เห็นเสียง ได้ยินสี บางครั้งฟังดนตรีก็อร่อย

เห็นเสียง ได้ยินสี บางครั้งฟังดนตรีก็อร่อย 
Synesthesia ภาวะประสาทสัมผัสรับรู้พร้อมกัน 

____________


⠀⠀⠀ตลอดชีวิต เราเคยชินกับการรับรู้สีได้ด้วยการมองเห็น รับรู้เสียงได้ด้วยการฟัง รับรู้รสชาติได้ด้วยการชิม แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่สามารถมองเห็นสีสันจากการได้ยินเสียง สัมผัสสิ่งของแล้วได้กลิ่น หรือฟังดนตรีแล้วรู้สึกถึงรสชาติที่ต่างกันออกไปของแต่ละเพลง

ปรากฎการณ์นี้ เราเรียกมันว่า “ซินเนสทีเซีย (Synesthesia)” หรือภาวะประสาทสัมผัสรับรู้พร้อมกัน 



“ซินเนสทีเซีย” คืออะไร ใช่ความบกพร่องหรือไม่ ? 

⠀⠀⠀Synesthesia มาจากภาษากรีก คำว่า syn– แปลว่าร่วม และ –aesthesia แปลว่าการรับรู้ จึงหมายถึงภาวะที่ประสาทสัมผัสของเรารับรู้ได้พร้อมกัน หรือบางแหล่งก็ให้ชื่อว่า ‘ภาวะการรับรู้ข้ามช่องสัมผัส’ 

ซึ่งเจ้าภาวะนี้ คือการที่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การมองเห็น, การได้ยิน การดมกลิ่น, การลิ้มรส, และการสัมผัส ทำงานปะปนหรือข้ามช่องกัน ยกตัวอย่าง เวลาเราฟังเพลง แทนที่เราจะรับรู้เสียงดนตรีผ่านการได้ยินทางหู แต่ภายในปากเรากลับรู้สึกถึงรสชาติบางอย่างไปพร้อม ๆ กันด้วย

โดยสาเหตุของซินเนสทีเซีย มีที่มาจากกลไกการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของคนเรา ลองนึกภาพตามง่าย ๆ ว่าส่วนการรับรู้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถูกแบ่งออกเป็นกล่อง 5 กล่อง เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามากระทบสัมผัสด้านใดด้านหนึ่ง สัญญาณประสาทจะส่งความรู้สึกเหล่านั้นไปยังกล่องประสาทสัมผัสที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็จะสร้างกำแพงกั้นสัญญาณไม่ให้ส่งไปยังกล่องอื่น ๆ ที่เหลือ ยกตัวอย่าง เมื่อมีเสียงดัง สัญญาณประสาทก็จะส่งความรู้สึกไปยังกล่องรับรู้การได้ยินเท่านั้น และกั้นไม่ให้ไปที่กล่องอื่น 

แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะซินเนสทีเซีย เจ้ากำแพงขวางกั้นที่ว่านี้อาจมีความพร่าเลือนหรือปิดไม่สนิท ทำให้สัญญาณประสาทหลุดรอดไปยังกล่องอื่นร่วมด้วย นั่นทำให้บางคนสามารถมองเห็นสีหรือรับรู้รสชาติได้เมื่อได้ยินเสียง 

⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม ภาวะที่ว่านี้ “ไม่ใช่ความบกพร่องหรือความพิการ” แต่อย่างใด ถือเป็นลักษณะพิเศษเสียมากกว่า จากการสำรวจพบว่าคนที่มีภาวะเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีศักยภาพโดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีความสามารถในการจดจำเป็นเลิศ



“ซินเนสทีเซีย” ที่พบเจอบ่อย 

⠀⠀⠀ซินเนสทีเซียมีโอกาสพบได้ 1 ใน 25,000 คน จากสถิติมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นคนถนัดซ้าย และภาวะนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งหากนับกันจริง ๆ แล้ว ซินเนสทีเซียมีลักษณะพิเศษที่ต่างกันออกไปมากกว่าร้อยรูปแบบ แต่โดยรวมแล้วสามารถจัดให้อยู่ใน 5 หมวดหมู่รูปแบบได้ ดังนี้ 

กลุ่มเห็นอักขระเป็นสี (Grapheme-Color) 

⠀⠀⠀ถือเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยกลุ่มนี้จะมองเห็นตัวอักษร ตัวเลข หรือโน้ตดนตรี มีสีสันเฉพาะ ไม่ว่าอักขระเหล่านั้นจะเขียนด้วยสีอะไรก็ตาม ซึ่งสีที่พวกเขามองเห็นนี้จะเกิดขึ้นภายในจิตสำนึก เช่น ถ้ามองเห็น ก.ไก่ เป็นสีแดง ไม่ว่าจะมองเห็นตัว ก.ไก่ ที่ไหน เขียนด้วยสีอะไร จิตสำนึกก็จะบอกว่า ก.ไก่ ต้องคู่กับสีแดงเท่านั้น 

กลุ่มเชื่อมสีเข้ากับเสียง (Chromesthesia) 

⠀⠀⠀เป็นอีกกลุ่มที่พบได้บ่อย พวกเขาจะมองเห็นสีได้จากเสียงรูปแบบต่าง ๆ เช่น เห็นสีฟ้าเมื่อได้ยินเสียงเบสต่ำ เห็นสีส้มเมื่อได้ยินเสียงกีตาร์ เป็นต้น มีศิลปินระดับโลกหลายคนที่มีภาวะนี้ อาทิ Mozart, Beyoncé หรือ Billie Eilish ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้ใช้ภาวะดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย

กลุ่มรับรู้รสชาติจากคำ (Lexical-Gustatory) 

⠀⠀⠀เป็นภาวะที่เมื่อได้ยินคำบางคำแล้วทำให้นึกถึงรสชาติ เช่น ได้ยินคำว่า “กระดาษ” อาจทำให้รู้สึกถึงรสชาติหรือกลิ่นของพริก เป็นต้น

กลุ่มกระจกสะท้อนสัมผัส (Mirror-Touch) 

⠀⠀⠀ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมองเห็นคนอื่นโดนสัมผัส จะรู้สึกเหมือนถูกสัมผัสไปด้วย ยกตัวอย่าง หากพวกเขาเห็นคนโดนตีที่ต้นแขน เขาก็จะรู้สึกเจ็บที่ต้นแขนไปด้วยทั้งที่ไม่ได้โดนสัมผัสเอง 

กลุ่มพื้นที่ลำดับแบบพิเศษ (Spatial sequence) 

⠀⠀⠀ชื่ออาจจะชวนงงอยู่สักหน่อย แต่กลุ่มนี้คือคนที่มีแผนภาพลำดับของตัวเลข ตัวอักษร เดือน วัน หรือเวลา ภายในจิตใต้สำนึกที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ยกตัวอย่าง เมื่อนึกถึงเดือนต่าง ๆ ในหนึ่งปี ภาพในหัวของพวกเขาอาจมองเห็นเดือนแรกไล่ลงมาถึงเดือนสุดท้ายในรูปแบบโค้งครึ่งวงกลมและมีสีสันต่างกันไปแต่ละเดือน ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะโดดเด่นเรื่องการจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีและยาวนานกว่าคนทั่วไป 



ลองเช็คไหม คุณมีภาวะ “ซินเนสทีเซีย” หรือเปล่า ?

⠀⠀⠀แม้ว่าจะไม่มีรายละเอียดในการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการของภาวะนี้ แต่ก็มีเช็คลิสต์เงื่อนไขของอาการคร่าว ๆ ที่สามารถให้เราตรวจสอบตัวเองได้เบื้องต้นว่าเราเองก็มีภาวะพิเศษนี้หรือไม่ 

  • ลองสำรวจจากรูปแบบหลัก ๆ ในข้างต้นว่า คุณมีอาการที่เหมือนหรือใกล้เคียงในข้อใดหรือไม่ หากมี ลองตรวจสอบซ้ำโดยการจดบันทึกภาพที่เห็นในหัว เช่น หากสงสัยว่าตัวเองเห็นตัวอักษรเป็นภาพ ให้ลองอ่านข้อความสักประโยคและจดบันทึกว่าเห็นตัวอักษรไหนเป็นสีใดบ้าง แล้วอีก 1 – 2 ชั่วโมงลองมาทำซ้ำอีกครั้ง หากยังเห็นเป็นสีเดิม มีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจมีภาวะซินเนสทีเซีย 
  • ซินเนสทีเซียเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเองและคงอยู่เสมอ เช่น เห็น ก.ไก่ เป็นสีแดงก็จะเห็นอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถบังคับให้เป็นหรือหายไปได้ และส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กจนเป็นความเคยชิน ทำให้หลายคนมักไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองมีภาวะดังกล่าว 
  • ภาวะนี้เกิดขึ้นในความคิดหรือจิตใต้สำนึกเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นผู้มีภาวะซินเนสทีเซียส่วนใหญ่จะสามารถอธิบายการรับรู้ที่แตกต่างของตัวเองได้ 
  • หากรู้สึกว่าตัวเองเข้าเค้าหลายข้อ สามารถทดสอบซ้ำอีกครั้งด้วยแบบทดสอบออนไลน์ตามเว็บไซต์ เพื่อประเมินตนเองอย่างละเอียดได้



“ซินเนสทีเซีย” ควรรักษาไหม ?

⠀⠀⠀อย่างที่ได้กล่าวไปว่าซิสเนสทีเซียไม่ใช่ความบกพร่อง อาจมีบ้างที่ทำให้เกิดความสับสนหรือรำคาญใจ เนื่องจากมีผลกระทบกับการรับรู้ตามปกติ โดยในเด็กเล็กอาจมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ แต่เมื่อเติบโตขึ้นผู้มีภาวะนี้จะค่อย ๆ ปรับตัว และหาจุดสมดุลของตัวเองได้ ปัจจุบันจึงยังไม่มีการระบุแน่ชัดถึงวิธีการรักษา ด้วยว่าผู้ที่มีภาวะนี้มักพึงพอใจและสนุกกับความพิเศษของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะความแตกต่าง 

⠀⠀⠀การตระหนักรู้และทำความเข้าใจถึงภาวะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราทุกคนได้รับรู้ว่าในโลกใบนี้ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่มีมุมมองการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัวต่างจากเรา และพวกเขาไม่ได้ประหลาด หรือลองเช็คตัวเองสักนิด บางทีอาจเป็นคุณเองนี่ล่ะที่พิเศษกว่าคนอื่น 



#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #ซินเนสทีเซีย #Synesthesia #เห็นเสียงได้ยินสี 


แหล่งอ้างอิง:

https://en.wikipedia.org/wiki/Synesthesia

https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/6314

https://www.brandthink.me/content/synesthesia