ทำยังไงดี เมื่อชีวิตมันหนักหนา จนรู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา

ทำยังไงดี เมื่อชีวิตมันหนักหนา จนรู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา 


      รู้สึก ‘#เหนื่อย’  อยู่ตลอดเวลา? อาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างของมนุษย์เราในปัจจุบัน..ที่กำลังใช้ชีวิตเหมือนหนูแฮมสเตอร์วิ่งวนอยู่ในวงล้อ  เมื่อเราวิ่ง ๆ วิ่งไปเรื่อย ๆ แบบที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ความเหนื่อยล้าก็อาจเกาะติดเราจนไม่รู้ตัว ! 

      อาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดา ที่ใครๆก็เหนื่อยกันได้ใช่ไหม! แต่ถ้าความเหนื่อยล้า มันได้มีแค่บางวันล่ะ



#แค่ไหนถึงเรียกว่า “เหนื่อย” ?

      นิยามความเหนื่อยล้า ของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน แต่ในหลักทางวิทยาศาสตร์นั้นอาจหมายถึง ระดับของความต้องการนอน ต้องการพักผ่อนเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับความเหนื่อยล้าจะส่งผลต่อสมองเป็นหลัก ที่มีส่วนในการนึก คิด วิเคราะห์ การทำงานต่างๆของระบบในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมต่างๆ จนกระทบกับร่างกายของเราโดยตรง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะต่างๆ ของโรคที่รุนแรง และอาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้นั่นเอง! 

      รายงาน Global Consumer Trends 2023 โดย Mintel ระบุว่า หนึ่งในเทรนด์สำคัญของปี 2023 คือ ‘Hyper Fatigue’ หรือแนวโน้มที่ผู้คนจะรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนแรงอยู่ตลอดเวลา จากการสำรวจในสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอายุ 18 ขึ้นไปเกือบครึ่ง (49%) เผชิญกับความเครียดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ 38% รู้สึกวิตกกังวล 22% รู้สึกเหนื่อยใจ และ 20% รู้สึกหมดไฟ ส่วน 2 ใน 5 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจหนึ่งบอกว่า พวกเขาอยากจะใช้เวลาว่างกับการทิ้งตัวลงนอนนิ่งๆ มากกว่าจะเอาเวลาไปเจอเพื่อนและครอบครัว


#HyperFatigue คืออะไร? 

      เป็นความรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนแรงตลอดเวลาทั้งกายและใจ เกิดจากความกังวลในชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิต ปัญหาต่างๆ ทั้งครอบครัว การงาน หรือการอ่านข่าวลบตลอดเวลา ทำให้เราต้องเผชิญกับความกังวลใหม่ ๆ มากมาย รวมถึงโซเชียลมีเดียนั้นก็ยังทำให้เรารู้สึกแย่ลงได้อีกด้วย 



#ทำไมถึงเหนื่อยล้าตลอดเวลา? 

      ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความเหนื่อยล้าทั้งสิ้น จนกลายเป็นนิยามของอาการในชื่อ " #TATT " (Tired All The Time) หรือความเหนื่อยล้าตลอดเวลา!  มาดูกันว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็น TATT 


 การติดใช้ชีวิตแบบข้ามคืน  

     งานวิจัยของ Sleep and Health Research Program ของมหาวิทยาลัย Arizona เชื่อมโยงการนอนไม่เป็นเวลาว่ามีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจถึง 11%   เพราะร่างกายของเรา มีนาฬิกาชีวภาพที่สลับซับซ้อนชื่อว่า Circadian Rhythms คอยควบคุมความรู้สึกหิว ง่วงนอน หรือสดชื่นกระปรี้กระเปร่า โดยการปล่อยฮอร์โมนที่จะคอยควบคุมความสมดุลให้ร่างกายคงที่ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตไม่เป็นเวลาก็จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาวได้นั่นเอง 


 โหมงานมากเกินไป

     แคเธอรีน เลิฟเดย์ (Catherine Loveday) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาของ University of Westminster เรียกภาวะนี้ว่า ‘#เป็นภาวะที่สมองทำงานได้ไม่ดี’ จากการทำงานหนักเป็นระยะเวลานานจนใช้สมองหนักมากเกินไป  การพักผ่อนน้อยและจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จนถูกรบกวนให้สารสื่อประสาทเสียสมดุล จะกระทบต่อความคิด ความทรงจำ การจดจ่อ การสร้างสรรค์ อารมณ์และจิตใจอีกด้วย

 ไม่ออกกำลังกายเลย

     งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Georgia ระบุว่า คนที่ออกกำลังกายประจำมากถึง 90% มักไม่มีรายงานอาการเหนื่อยล้าที่ตามมา แถมยังทำงานได้ดี การออกกำลังกายช่วยให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานอย่างสมดุล ทำให้รู้สึกเป็นสุข คนที่ออกกำลังเป็นประจำจึงมักเข้าใจและจัดการอารมณ์ได้ดี แถมยังช่วยลดการสะสมไขมันในร่างกาย ที่เกี่ยวกับกับความเหนื่อยล้าระยะยาวอีกด้วย

 การขังตัวเองอย่างโดดเดี่ยว

     แสง อากาศสดชื่น และสิ่งเร้าเล็กๆ น้อยๆ จำเป็นต่อสุขภาวะสมองส่วน Suprachiasmatic nucleus อันเป็นสมองเล็กๆ ในส่วน Hypothalamus ที่ควบคุมเรื่องการรับรู้และตอบสนองต่อเวลาของเรา นำไปสู่อาการที่เกี่ยวกับความซึมเศร้าตามฤดูกาลที่เรียกว่า "Seasonal affective disorder (SAD)" ได้อีกด้วย

 กินอาการแย่ๆ 

     การทานอาหารไม่ดีส่งผลเสียต่อร่างกายแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมากเกินไปอาจกลายเป็นอาการ #Sleepapnoea หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากอาหารฟาสฟู้ด มีปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่สูงมากปราศจากธาตุ วิตามินทำให้ร่างกายเผาผลาญเร็ว และจะหิวโหยอยู่ตลอดเวลา มีส่วนทำให้เรานอนไม่เต็มอิ่มได้นั่นเอง

 ติดกาแฟและแอลกอฮอล์ 

      งานศึกษาของมหาวิทยาลัย John Hopkins Medical School พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์เป็นประจำ มักจะมีอาการเหนื่อยล้าในระยะยาว (Long-term tiredness) แอบแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล อีกทั้งยังส่งผลอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกายอีกด้วย

วิตกกังวลมากเกินไป

      นักวิจัยพบว่า การที่จมอยู่กับความเหนื่อยล้าเป็นประจำเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าเรื้อรังได้เช่นกัน  เหนื่อยง่ายจึงซึมเศร้า และในขณะเดียวกันซึมเศร้าก็ทำให้เหนื่อยง่าย ความเครียดและวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมชาติก็จริง แต่เมื่อมากเกินไปจะทำให้การลำเลียงอ็อกซิเจนเข้าสู่สมองน้อยลง ทำให้สมองทำงานหนัก เสียงต่อโรคแพนิคหรือโรคตื่นตระหนกได้อีกด้วย


#สัญญานที่บอกว่าเรากำลังเหนื่อยมากเกินไปแล้วนะ 

อารมณ์ 

      สังเกตุง่ายๆคือ อารมณ์เรามักจะเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้นกว่าเดิม อารมณ์เสียง่ายขึ้น หัวร้อน โมโห หงุดหงิดมากขึ้น ร้องไห้ง่ายขึ้น ส่งผลเสียรุนแรงต่อสภาพร่างกายและจิตใจ เมื่ออารมณ์เราแปรปรวนง่ายก็จะทำให้การทำงานต่างๆของร่ายการ รวนตามไปด้วย

ร่างกาย

      ภายนอก  : จะทำให้มีใบหน้าที่ห่อเหี่ยว ไม่สดใส ผิวหน้าไม่แข็งแรง ผิวแห้ง เป็นสิวง่าย ดวงตาอ่อนล้า เส้นผมไม่แข็งแรง หลุดร่วงผิดปกติ เล็บที่เปราะบาง ฉีดขาดง่าย รวมถึงภาวะอ้วนง่าย หรือผอมลงง่าย น้ำหนักขึ้นลงผิดปกติ 

     ภายใน  : เมื่อร่างกายเรากำลังเหนื่อยเกินไป ใช้พลังงานเกินขีดจำกัดแบบไม่ได้พัก จะส่งผลกระทบกับทุกระบบในร่างกายเราเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเครียด หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจตีบเล็กลง ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก่อให้เกิดทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด แผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ ไม่เพียงเท่านี้!! ลำไส้ส่วนต่างๆ และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะทำงานได้ต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรงและเจ็บป่วยได้ง่ายนั่นเอง 

 พฤติกรรม

     เมื่อสภาพจิตใจเราเริ่มแย่ ผลเสียจากอารมณ์จะถูกส่งต่อมายังพฤติกรรม การกระทำและความคิดของเรา! คือ บางคนอาจเก็บตัวมากขึ้น เหวี่ยงมากขึ้น เข้าสังคมน้อยลง หรือแสดงออกว่ากำลังหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต อาจจะขี้เกียจมากขึ้น  หมดแรงบันดาลใจในการทำงาน ไปสู่ภาวะ #BurnOut หรือภาวะหมดไฟ  ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเราเข้าสู่ภาวะหมดไฟมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางแย่ลงก็จะกระทบกับการทำงานและคนรอบข้างมากขึ้น



#ทริคที่จะช่วยให้เราไม่ต้อง เหนื่อยล้าตลอดเวลา’ 

 ฝึกสมาธิ ด้วยการฝึกลมหายใจ

 เขียนลงบนกระดาษ ระบายความคิดที่ฟุ้งซ่านออกมาอย่างอิสระ

หากิจกรรมที่จะช่วยให้ผ่อนคลาย ฟังเพลง เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ ดูหนัง ทำอาหาร 

ออกไปเที่ยว พักผ่อนตามธรรมชาติ

ใช้เวลากับคนรัก ครอบครัวและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น

 รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 

 หมั่นขยับร่างกาย ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ตัวเองชอบ

 นอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา

 อย่าฝืนทำงานตอนรู้สึกเหนื่อยล้า

 คุยกับเพื่อน คนรอบข้างอยู่เสมอๆ เมื่อมีเรื่องอะไรอย่าเก็บไว้คนเดียว

 ปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ อย่ากลัวที่จะต้องไปหาหมอ



     เพราะท้ายที่สุดแล้ว จิตใจเรานั้นสำคัญกับตัวเราที่สุด! หากใจดี ร่างกายก็จะดีตามไปด้วย.. "อย่าลืมที่จะโอบกอดตัวเองในวันที่เหนื่อยล้า เพราะตัวเรามีแค่เราคนเดียว" 

#CMUSTeP  #MakeInnovationSimple  #CreativeSTeP  #hyperfatigue  #mentalhealth  #tried  #workไร้balance  #burnout  #sad  #เหนื่อยล้า  #หมดไฟ  #เครียด  #นอนไม่หลับ   #สุขภาพจิต  

 

อ้างอิงข้อมูล : 

Washington Post

Health.harvard

Glamour magazine