ทำไมใคร ๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น? เปิดสูตร #การตลาดแบบเน้นคุณค่า ที่มัดใจลูกค้าได้ทั่วโลก

ทำไมใคร ๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น? เปิดสูตร #การตลาดแบบเน้นคุณค่า ที่มัดใจลูกค้าได้ทั่วโลก


⠀⠀⠀การมาของยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าและรับบริการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ร้านค้าหรือธุรกิจจึงต้องคอยปรับกลยุทธการตลาดให้ทันยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แต่มีการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ดูจะลอยตัวอยู่เหนือกาลเวลา ที่ไม่ว่ากี่ยุคที่สมัยก็ครองใจผู้บริโภคได้เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเข้าถึงคนได้ทั่วโลกเลยทีเดียว นั่นคือ “การตลาดแบบญี่ปุ่น” เขามีเคล็ดลับอะไรถึงได้ประสบความสำเร็จ วันนี้เราจะพาสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการทุกคนมาแกะสูตรการตลาดที่ใคร ๆ ก็ติดใจไปพร้อม ๆ กัน 



 ทุกอย่างเริ่มต้นจาก ‘วิธีคิด’

⠀⠀⠀หากพูดถึงสินค้าหรือบริการแบบญี่ปุ่น หลายคนน่าจะมีภาพจำหรือความทรงจำคล้าย ๆ กัน ถึงร้านค้าหรือธุรกิจที่ให้บรรยากาศเรียบง่าย แต่อบอุ่น พร้อมด้วยคุณภาพการให้บริการระดับดีเยี่ยม ตัวสินค้าที่ให้ประโยชน์รอบด้าน และความใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงบริการหลังการขาย สร้างความประทับใจให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ รู้สึกเหมือนได้รับความคุ้มค่ากว่าเงินที่จ่ายไปเสียด้วยซ้ำ

นั่นเพราะการตลาดของญี่ปุ่น เขาให้ความสำคัญกับ ‘#คุณค่า’ มากกว่าผลกำไร 

⠀⠀⠀ซึ่งสิ่งเหล่านี้แทรกซึมอยู่ในวิธีคิดของคนญี่ปุ่น จากปรัชญาการใช้ชีวิตที่สืบทอดกันมาผ่านพิธีชงชาจากรุ่นสู่รุ่นอย่าง ‘อิจิโกะ อิจิเอะ’ (一期一会) หรือ หนึ่งชีวิต หนึ่งพบ ซึ่งหมายถึงเราอาจได้พบกันแค่ครั้งเดียวในชีวิต เพราะฉะนั้นควรทำปฏิบัติต่อกันให้ดีที่สุด หรือปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงอย่าง ‘โคดาวาริ’ (こだわり) ซึ่งสอนให้คนญี่ปุ่นมีความตั้งใจแน่วแน่ในการทำบางสิ่งให้ออกมาดีที่สุด ใส่ใจในรายละเอียด ประณีตบรรจง พิถีพิถัน ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นการรักษาคุณภาพของสินค้า และการบริการได้อย่างยอดเยี่ยมนั่นเอง 


4S สร้าง ‘คุณค่า’ ให้ร้านค้าแบบญี่ปุ่น

⠀⠀⠀ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบญี่ปุ่น ได้ถอดสูตรการสร้างคุณค่าให้ร้านค้าหรือธุรกิจตามแบบฉบับชาวญี่ปุ่น ออกมาเป็น 4S Marketing ได้แก่

1. Simple — ความเรียบง่ายคือสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ในแบรนด์ญี่ปุ่น อาทิ MUJI ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนได้ทุกช่วงวัยและทุกยุคสมัย เพราะข้อดีของการไม่สะดุดตา คือไม่สร้างความรู้สึกเบื่อหน่าย

2. Small Details — ใส่ใจแม้ในรายละเอียดเล็กจิ๋ว ความพิถีพิถันในการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น สร้างนิสัยใส่ใจโดยธรรมชาติแม้ในส่วนที่เราคาดไม่ถึง ยกตัวอย่างกระเป๋านักเรียนที่แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ออกแบบให้รับกับสรีระของเด็ก ป้องกันหัวกระแทกตอนลื่นล้มได้ และสามารถใช้ลอยน้ำได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเหล่านี้ออกแบบโดยผ่านการคิดอย่างใส่ใจมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น

3. Story — ให้เรื่องราวเป็นตัวบอกเล่า ด้วยแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้เขาให้คุณค่ากับเรื่องเล่าเบื้องหลังสินค้าหรือบริการเหล่านั้นไปด้วย การมีเรื่องเล่าจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เข้าถึงลูกค้า และสร้างการจดจำให้ธุรกิจได้ง่ายขึ้น

4. Selfless — ไม่ใช่การคิดถึงผู้อื่นก่อนตัวเองเสียทีเดียว แต่หมายถึงการคิดถึงผู้อื่นให้เท่ากับคิดถึงตัวเอง เรียกง่าย ๆ ว่า เราอยากให้ตัวเองได้รับอะไร เราก็เสนอสิ่งนั้นไปให้ผู้อื่น เราจะเห็นสิ่งนี้ได้ชัดเจนจากการบริการของคนญี่ปุ่น ที่มักจะดูแลลูกค้าราวกับคนในครอบครัวของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสร้างให้เกิดความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์



ผลักดัน ‘คุณค่า’ ด้วย ‘ความจริงใจ’

⠀⠀⠀การสร้างคุณค่าให้สินค้าและบริการ อาจฟังดูเหมือนต้องอาศัยการทุ่มเทพลังกายและการรักษามาตรฐานที่สูงปรี๊ดเพื่อให้ได้มา แต่ความจริงแล้วคนญี่ปุ่นเขาเริ่มต้นด้วยความเรียบง่ายกว่านั้นมาก โดยอาศัย ‘ความจริงใจ’ เป็นจุดสตาร์ท

ความจริงใจ 1: การตลาดแบบญี่ปุ่นมักตั้งคำถามว่า “ธุรกิจของเราจะสร้างประโยชน์เพื่อใคร ก่อนถามว่าเราจะขายอะไรดี” คล้ายกับการเริ่มต้นแบบธุรกิจ Startup ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจมากกว่าการมุ่งขายแต่หาผลกำไรโดยที่ผู้รับไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง

ความจริงใจ 2: ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าประหนึ่งคนในครอบครัว อย่างที่ได้พูดไปในข้างต้นว่า การตลาดแบบญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญของการดูแลลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว ยกตัวอย่างธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ซึ่งมีราคาสูงกว่าเจ้าอื่น ๆ ในตลาด แต่ให้บริการหลังการขายที่ครบเครื่อง แม้เปลี่ยนหลอดไฟเพียงดวงเดียวก็เดินทางไปบริการให้ถึงบ้าน ทำให้ครองใจลูกค้าได้อย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ซึ่งเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ในญี่ปุ่น

ความจริงใจ 3: ให้ประโยชน์ของลูกค้ามาก่อนการแข่งขัน ยกตัวอย่างจากธุรกิจไข่ปลาเมนไทโกะ ที่เจ้าแรกได้พัฒนาสูตรจนขายดี จนมีเจ้าอื่น ๆ ในจังหวัดทำเลียนแบบมากมาย แต่เขาก็ไม่ได้หวงสูตรแต่อย่างใด หนำซ้ำยังมองว่าเป็นเรื่องดีที่ลูกค้าจะได้ลองเมนไทโกะที่หลากหลาย และสร้างชื่อให้จังหวัดอีกด้วย ซึ่งนั่นมาจากวิธีคิดที่ให้เห็นประโยชน์และความต้องการของลูกค้ามาก่อนนั่นเอง



⠀⠀⠀จะเห็นได้ว่าการตลาดแบบญี่ปุ่นที่เรานำมาเปิดสูตรกันในวันนี้ อาจไม่ได้มีแนวทางให้ทำตามแบบเป็นขั้นเป็นตอนชัดเจนนัก จะเน้นไปที่วิธีคิดให้นำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเสียมากกว่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการตลาดแบบญี่ปุ่นนั้น ยากที่จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ แต่การการเติบโตแบบช้า ๆ ก้าวเล็ก ๆ ก็สามารถสร้างความยั่งยืนผ่านกาลเวลาได้เช่นกัน ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ “ลูกค้าหนึ่งคน มาซื้อ 100 ครั้ง ไม่ใช่ลูกค้า 100 คน มาซื้อเพียงครั้งเดียว” 

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #Marketing #Japanese #JapaneseMarketing 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

https://tuxsablog.skilllane.com/biz.../makoto-marketing/

https://contentshifu.com/blog/value-driven-marketing-japan#1

https://www.mendetails.com/life/ปรัชญาชีวิตญี่ปุ่น-5-japanese-living-philosophy-aug19/