Affiliate Marketing การตลาดแบบ Win-Win ร้านค้าได้ประโยชน์ คนโปรโมตสร้างรายได้

Affiliate Marketing การตลาดแบบ Win-Win 

ร้านค้าได้ประโยชน์ คนโปรโมตสร้างรายได้ 

___________

⠀⠀⠀ใครที่เป็นสายชอบอ่านรีวิว หรือขาชอปปิงออนไลน์น่าจะเคยเห็นคอนเทนต์รีวิวสินค้าที่พ่วงมาด้วยการแปะลิงก์ร้านค้า ให้เราสามารถคลิกเข้าไปซื้อสินค้าที่รีวิวได้เลยง่าย ๆ ทันที โดยที่ไม่ต้องไปค้นหาแหล่งด้วยตัวเอง

รู้หรือไม่ ว่านี่ไม่ได้เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อเท่านั้น แต่เป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรงในประเทศไทยสุด ๆ เรียกว่า ‘Affiliate Marketing’ 

.

.

 Affiliate Marketing คืออะไร?

⠀⠀⠀หากแปลตรงตัวจะหมายถึง การตลาดแบบพันธมิตร หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เป็นการตลาดแบบช่วยขาย ซึ่งได้ประโยชน์ Win-Win กันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะฝั่งเจ้าของธุรกิจหรือฝั่งตัวแทน 

โดยเราในฐานะนายหน้าหรือตัวแทนจะทำการตลาดให้กับบุคคลหรือธุรกิจอื่น ด้วยวิธีการโปรโมตสินค้าและบริการผ่านช่องทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ผ่าน Social Media การสร้างลิงก์ เว็บไซต์ รวมไปถึงแอปพลิเคชัน ให้กลุ่มผู้บริโภคเข้าไปเลือกซื้อสินค้าหรือสมัครสมาชิกผ่านช่องทางที่เราสร้างขึ้น และเราจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันกับเจ้าของธุรกิจ เป็นส่วนแบ่งในรูปแบบ ‘Commission (คอมมิชชัน)’ ตามเงื่อนไขที่ทางเจ้าของธุรกิจกำหนด ยิ่งเราเพิ่มจำนวนลูกค้าให้กับธุรกิจได้มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้ค่าตอบแทนสูงขึ้นมากเท่านั้น

.

.

 Affiliate Marketing มีอะไรบ้าง?

⠀⠀⠀Affiliate Marketing จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

● Unattached Affiliate Marketing — คือการทำ Affiliate Marketing แบบไม่ผูกมัด ที่ฝั่งร้านค้าและตัวแทนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เช่น การโปรโมตสินค้าแบบการนำลิงก์ร้านค้าไปแปะบนคอนเทนต์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าจริง ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็ได้ ตัวอย่างคอนเทนต์ที่เราจะเห็นผ่านตาบ่อย ๆ อาทิ รวมของแต่งบ้านงบไม่เกิน 300, มีงบ 200 ซื้อของขวัญปีใหม่อะไรดี เป็นต้น ซึ่งถ้าใครสนใจก็กดลิงก์เข้าไปซื้อ ตัวแทนก็จะได้รับค่าคอมมิชชันกลับไป

ปัจจุบันเราจะเห็นการตลาดรูปแบบนี้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้กระตุ้นยอดขายมากนัก แต่สามารถสร้าง Brand Awareness ได้ดี เหมาะสำหรับการโปรโมตสินค้าหรือธุรกิจให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

● Related Affiliate Marketing — คือการทำ Affiliate Marketing ที่ฝั่งร้านค้าและตัวแทนมีความเกี่ยวข้องกันบางอย่าง เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น ร้านค้าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอางและตัวแทนเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ ซึ่งตัวแทนในฐานะผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการแต่งหน้า เมื่อทำการรีวิวสินค้าจะสร้างความน่าเชื่อถือและมีอิทธิพลต่อผู้ติดตาม ทำให้เกิดการกระตุ้นความอยากซื้อได้ดี โดยตัวแทนก็จะได้รับค่าคอมมิชชันจากการแปะช่องทางการซื้อไว้ในคอนเทนต์ของตัวเองเช่นกัน

● Involved Affiliate Marketing — คือการทำ Affiliate Marketing ที่ฝั่งร้านค้าและตัวแทนสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น ตัวแทนเปิดโรงแรมและมีเว็บไซต์โรงแรมเป็นของตัวเอง เมื่อทำการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมนั้นอยู่ และในแถบด้านข้างมีการขึ้นแบนเนอร์ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ทัวร์ต่อ หรือหากทำการตกลงกันดีพอ ก็อาจจะทำเป็นข้อเสนอจองตั๋วโรงแรมพร้อมทัวร์ ได้รับส่วนลดพิเศษทันที เป็นต้น ทำให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวกว่าด้วย

.

.

 แล้วข้อดี-ข้อเสียของ Affiliate Marketing ล่ะ?

⠀⠀⠀ในมุมของธุรกิจ — แน่นอนว่าข้อดีของการทำ Affiliate Marketing สำหรับธุรกิจ คือการที่เรามีผู้ช่วยขายสินค้า ช่วยโปรโมต มีโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น โดยที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก ประหยัดกว่าการลงทุนโฆษณาหรือโปรโมตเอง แต่สำหรับธุรกิจหรือแบรนด์ที่มีอัตรากำไรต่ำ วิธีนี้ก็อาจจะยากสักหน่อย เพราะไม่สามารถควบคุมรูปแบบของเนื้อหาคอนเทนต์ได้ และอาจได้กลุ่มคนที่เข้ามาไม่ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้

⠀⠀⠀ในมุมของตัวแทน — สำหรับตัวแทน แน่นอนว่าหลัก ๆ แล้วคือการที่เราสามารถเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเอง ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าอยู่กับตัว และสามารถทำงานได้จากทุกที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากว่าจะสร้างรายได้ได้ก็ต้องใช้เวลาในการปั้นคอนเทนต์หรือแพลตฟอร์มของตัวเอง

.

.

 ‘ธุรกิจ’ จะเริ่มทำ Affiliate Marketing อย่างไร?

⠀⠀⠀การทำ Affiliate Marketing สำหรับธุรกิจ สามารถเริ่มได้โดยที่ธุรกิจอาจจะใช้วิธีการติดต่อหากลุ่มสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์เอง เพื่อตกลงแลกเปลี่ยนข้อเสนอในการรับทำ Affiliate Marketing ผ่านการทำคอนเทนต์ของสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์นั้น ๆ หากเกิดยอดขายขึ้นจากการโปรโมตก็จะทำการแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายหรือให้ค่าคอมมิชชัน

หรือหากธุรกิจทำการลงสินค้าผ่านช่องทางหรือแพลตฟอร์ม E-Commerce อยู่แล้ว ในปัจจุบันนี้ก็มีการทำ Affiliate Marketing ผ่านเว็บไซต์ E-Commerce ได้เลย จากการสมัครเข้าร่วมผ่าน Affiliate Program ของเว็บไซต์นั้น ๆ และทำการนำสินค้าไปโปรโมตเอาไว้ในแพลตฟอร์มเพื่อตามหาผู้รับทำ Affiliate Marketing ให้ พร้อมระบุเงื่อนไขค่าคอมมิชชันต่าง ๆ อาทิ การมอบข้อเสนอหรือโปรโมรชันที่น่าสนใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งหากตัวแทนสามารถทำตามเงื่อนไขได้ก็จะได้ผลตอบแทนตามตกลง

.

.

 อยากเป็น ‘ตัวแทน’ Affiliate Marketing ควรเริ่มจากตรงไหน?

⠀⠀⠀สำหรับฝั่งของตัวแทนการทำ Affiliate Marketing สามารถเริ่มต้นทำได้เลยโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนเหมือนกับการทำธุรกิจส่วนตัว หรือหาสินค้ามาขายเอง แต่จะต้องมีองค์ความรู้ในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ในการทำให้เกิดรายได้จากช่องทางนี้ด้วย 

โดยเราสามารถเข้าไปหาสินค้าหรือบริการที่ต้องการผู้รับโปรโมตสินค้าด้วยกลยุทธ์นี้ได้จากช่องทางต่าง ๆ ทั้งจากเว็บไซต์ของแบรนด์นั้นโดยตรง จากเว็บไซต์ E-Commerce หรือจาก Affiliate Provider ที่เป็นตัวกลางในการรับหาคนมาทำ Affiliate Marketing อยู่แล้ว หลังจากนั้นให้ทำการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก และเลือกสินค้าหรือบริการที่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ หลังจากนั้นจึงนำ Affiliate Link ไปทำการโปรโมตสินค้าในช่องทางของตัวเอง และหากมีผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าจากลิงก์ดังกล่าว เราก็จะได้ค่าตอบแทนตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน

.

.

⠀⠀⠀Affiliate Marketing อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เป็นกลยุทธการตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับร้านค้าหรือธุรกิจ และเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้หนึ่งที่มาแรงสุด ๆ สำหรับคนที่อยากหารายได้เสริม ใครที่สนใจสามารถนำกลยุทธ์นี้ไปลองกันได้เลย! 

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #StartupStory #AffiliateMarketing #การตลาดแบบพันธมิตร


ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

https://www.iplandigital.co.th/.../what-is-affiliate.../

https://www.zipeventapp.com/.../what-is-affiliate-marketing/

https://thedigitaltips.com/.../marke.../affiliate-marketing/