หรือ Multiverse จะมีอยู่จริง? Mandela Effect ปรากฏการณ์รับรู้ความจริงไม่ตรงกับความจริง

หรือ Multiverse จะมีอยู่จริง? 
Mandela Effect ปรากฏการณ์รับรู้ความจริงไม่ตรงกับความจริง 

_______________

⠀⠀⠀ก่อนอื่น อยากให้ทุกคนทายปัญหาเล่น ๆ กันสักหน่อย ลองนึกภาพตัวละครจากเกมและการ์ตูนชื่อดังอย่าง ‘Pikachu’ หรือที่คนไทยเราเรียกติดปากว่า ‘ปิกาจู’ ดูสิ พอจะจำได้ไหมว่า ที่ปลายหางของเจ้าหนูสีเหลืองตัวนี้ มีขอบสีดำหรือไม่? เชื่อว่าในความทรงจำของแทบทุกคน จะมองเห็นปิกาจูที่มีปลายหางตัดขอบสีดำเช่นเดียวกับที่ปลายหู แต่ในความเป็นจริงแล้ว หางของปิกาจูเป็นสีเหลืองล้วนไปตลอดทั้งหาง 

ไม่เพียงแค่เจ้าปิกาจูเท่านั้น ไม่ว่าจะโลโก้ของแบรนด์ดังอย่าง สตาร์บัคส์ ที่หากให้นึกภาพตอนนี้ คุณตอบได้ไหมว่ามงกุฎที่นางไซเรนสวมมีหยักรูปดาวหรือไม่? แล้วรูปปั้น The Thinker (ชายนั่งคิด) ล่ะ มือที่เท้าคางมันกำหรือว่าแบอยู่? หรือวลีเด็ดจากหนังในตำนาน Star Wars อย่าง “Luke, I’m your father” รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้ว Darth Vader พูดว่า “No, I’m your father” ต่างหาก 

.

.

⠀⠀⠀มีบ่อยครั้งที่การรับรู้สิ่งต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งภาพเหตุการณ์สำคัญของโลกที่ติดตา-ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเราเป็นอย่างดี แต่เมื่อย้อนกลับไปดูภาพหรือวิดีโอหลักฐาน ก็ต้องพบว่าสิ่งที่เห็นและได้รับการยืนยันว่าเป็นของจริง กลับไม่ตรงกับสิ่งที่เราคุ้นเคยมาตลอด น่าสนใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและยังเกิดกับคนหมู่มากทั่วโลกอีกด้วย 

ซึ่งเจ้าปรากฏการณ์รับรู้ความจริงไม่ตรงกับความจริงนี้ ถูกเรียกว่า ‘#MandelaEffect’ 

.

.

⠀⠀⠀Mandela Effect (อ่านว่า แมนเดลา เอฟเฟกท์) คือ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมาก มีความเชื่อหรือความทรงจำที่ตรงกันเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือเรื่องบางอย่างที่แตกต่างจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริง

โดยปรากฎการณ์นี้ มีที่มาจากชื่อของอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ‘Nelson Mandela (เนลสัน แมนเดลา)’ จากเหตุการณ์ที่สื่อรายงานการเสียชีวิตของแมนเดลาในปี 2013 แล้วผู้คนทั่วโลกนับล้านต่างออกมาแสดงความเห็นอย่างตื่นตกใจ ด้วยว่าพวกเขาเข้าใจว่าแมนเดลาเสียชีวิตไปตั้งแต่ถูกคุมขังในช่วงทศวรรษ 1980s และเสียใจกับการจากไปในครั้งนั้นมาก มีบางส่วนยืนยันอย่างหนักแน่นว่าพวกเขาได้ชมการถ่ายทอดสดพิธีศพของแมนดาลาด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย จนมีหลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า รึนี่จะเป็นหลักฐานการทับซ้อนกันของพหุจักรวาล (Multiverse) กันนะ? 

.

.

⠀⠀⠀ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด ถึงสาเหตุของการเกิด Mandela Effect แต่ก็พอจะมีทฤษฎีอยู่หลายข้อที่อธิบายปรากฎการณ์นี้ 

⠀⠀⠀หนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดหลัก ก็มาจากผู้ที่ตั้งชื่อให้กับปรากฎการณ์นี้อย่าง Fiona Broome นักเขียนผู้ชื่นชอบเรื่องเหนือธรรมชาติ โดยเธออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านทฤษฎีวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscientific Theories) ว่ามันเกิดขึ้นเพราะมีโลกคู่ขนาน ที่อีกโลกหนึ่งจะมีเหตุการณ์ ผู้คน และสิ่งของต่างๆ คล้ายกันกับโลกที่เรากำลังอาศัยอยู่ แต่อาจต่างกันในรายละเอียด ซึ่งเหตุการณ์การเสียชีวิตของแมนเดลาในช่วงปี 1980s ที่หลายคนเข้าใจ อาจเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในโลกคู่ขนานก็เป็นได้ เรียกง่าย ๆ ว่า ทุกเหตุการณ์เป็นความจริงทั้งหมด แต่เกิดขึ้นในจักรวาลที่ต่างกัน และบางสิ่งก็ตกข้างมายังจักรวาลนี้นั่นเอง

⠀⠀⠀อีกหนึ่งทฤษฎีสมคบคิดที่น่าสนใจ คือ ความเชื่อที่ว่าโลกของเราได้แตกสลายไปแล้วตั้งแต่ปี 2012 จากการเปิดทดลองใช้งานเครื่องชนอนุภาคขนาดใหญ่ขององค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือเซิร์น (CERN) ทำให้เกิดหลุมดำขึ้นจริงในช่วงเวลาเสี้ยวล้านล้านวินาที และต่อมาในปี 2013 CERN ได้ประกาศค้นพบอนุภาค Higgs ซึ่งเป็นอนุภาคที่ว่ากันว่าน่าจะเป็นต้นกำเนิดของจักรวาล นั่นจึงเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า โลกที่เราใช้ชีวิตกันต่อมานี้ คือการถ่ายโอนโลกเดิมมาสู่พหุจักรวาลใหม่ ทำให้ยังเหลือเศษเสี้ยวตะกอนของความจริงดั่งเดิมปะปนมาด้วย

และบ้างก็ว่า จริง ๆ แล้วพวกเราอาศัยอยู่ในโลกดิจิทัล ที่บางครั้งระบบก็มีอาการ Bug (บั๊ก) หรืออาการอัปเดต Patch ใหม่ไม่ทัน ทำให้เกิดการรวนของความจริงขึ้นมาบ้าง

.

.

⠀⠀⠀นอกจากทฤษฎีน่าเหลือเชื่อเหล่านี้แล้ว ยังมีอีกฟากฝั่งหนึ่งที่พยายามมองหาความเป็นไปได้จริงของ Mandela Effect ว่าน่าจะเกิดขึ้นมาจากภาวะ ‘ความทรงจำเท็จ (False Memories)’ นั่นคือ ความทรงจำของเรามีความบิดเบือนข้อมูลไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แม้จะมีส่วนประกอบของข้อเท็จจริงก็ตาม ด้วยว่าธรรมชาติของมนุษย์มีความผิดพลาดในการจดจำสูงมาก เป็นไปได้ว่าผู้คนอาจจดจำเหตุการณ์หรือเรื่องบางอย่างผิดไปจากความเป็นจริง

⠀⠀⠀หรืออีกทฤษฎีหนึ่ง คือ การถูกบิดเบือนข้อมูล (Misleading) ไม่ว่าจะเป็นจากคำบอกเล่าของผู้อื่นที่ฟังต่อมาเป็นทอด ๆ ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกับต้นเรื่อง คนบางคนที่อาจเล่าเรื่องโดยใส่ความเห็นและความเชื่อของตัวเองปะปนไป พยานในเหตุการณ์ที่อาจพูดแต่ในมุมมองที่ตัวเองพบเห็น หรือสื่อที่อาจรายงานข้อมูลบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เป็นต้น

.

.

⠀⠀⠀แม้เราจะไม่สามารถฟังธงได้ว่า ทฤษฎีชุดไหนกันที่เป็นสาเหตุของการปรากฎการณ์อันน่าพิศวงนี้ แต่ Mandela Effect ก็นับเป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่ช่วยเตือนให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการจดจำและวิเคราะห์รายละเอียดของข้อมูลต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างรอบคอบ 

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #MandelaEffect #Multiverse #NelsonMandela