การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในองค์กรกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกมองว่าสามารถช่วยเสริมสร้างการตัดสินใจ กระตุ้นกิจกรรมด้านนวัตกรรม และเพิ่มผลผลิตจากพนักงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Aalto ล่าสุด กลับพบว่าถึง 80% ของ “บริษัทที่ลงทุนใน AI เพื่อนำมาใช้พัฒนาการทำงาน” ที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างคาดหวังได้
โดยจากงานศึกษาข้างต้น ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำ AI มาใช้ในองค์กรไม่ได้ผลคือ “การตอบสนอง” ทางอารมณ์ของพนักงานต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ กล่าวคือพฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้งาน AI ในองค์กร อีกทั้งยังพบอีกด้วยว่าอำนาจและอิทธิพลที่ผู้นำมีต่อพนักงานสามารถกระทบต่อความเชื่อมั่นและการยอมรับในเทคโนโลยีดังกล่าวได้เช่นกัน
จากการศึกษาผลกระทบตามข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ปฏิกิริยาของบุคคลที่ใช้ AI ว่าเกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง โดยนักวิจัยแบ่งผู้ใช้ AI ออกเป็นสี่กลุ่มตามระดับความเชื่อมั่นทั้งในด้านความคิดและอารมณ์
กลุ่มแรกคือ “เชื่อมั่นเต็มที่” คือผู้ที่มีความเชื่อมั่นทั้งในด้านความสามารถของเทคโนโลยีและความรู้สึกต่อ AI, กลุ่มที่สองคือ “เชื่อมั่นต่ำ” คือผู้ที่ไม่เชื่อมั่นในทั้งสองด้าน, กลุ่มที่สามคือ “เชื่อมั่นอย่างไม่สบายใจ” คือผู้ที่เชื่อมั่นในด้านความสามารถสูง แต่รู้สึกไม่สบายใจในด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI และกลุ่มที่สี่คือ “เชื่อมั่นด้วยใจ” คือผู้ที่รู้สึกดีต่อ AI แต่สงสัยในด้านความสามารถ
โดยสาเหตุของการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มนี้ เพื่อทำให้องค์กรได้เล็งเห็นว่าหากทำให้พนักงานมีความไว้วางใจใน AI แบบเต็มที่ได้ ความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีไปใช้จะเกิดขึ้น ตรงกันข้ามกับกรณีที่พนักงานรู้สึกไม่มั่นใจหรือปฏิเสธระบบ AI ที่จะส่งผลกระทบต่อการนำ AI ไปใช้จนนำไปสู่วงจรที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้พนักงานสูญเสียความเชื่อมั่น และกลายเป็นปัญหาให้กับองค์กรในท้ายที่สุด
ส่วนในประเด็นของผู้นำองค์กร ผู้วิจัยได้แนะนำว่าอิทธิพลของผู้นำเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้นำควรสร้างการสื่อสารที่เปิดกว้างกับทีมงาน ทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วม และกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับความกังวลหรือข้อสงสัยที่มีต่อ AI ผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน รวมถึงพิจารณาใช้การจัดฝึกอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน AI ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับพนักงานและเปลี่ยนพนักงานเป็นกลุ่มที่ “เชื่อมั่นเต็มที่” ได้
ในท้ายที่สุด งานวิจัยได้สรุปว่าการนำ AI มาปรับใช้ในองค์กรไม่ใช่แค่การเน้นที่เทคโนโลยี แต่ยังต้องพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของพนักงานอย่างละเอียด โดยการเข้าใจและจัดการอารมณ์เหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการใช้ AI และนำนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำให้ AI เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทีมงานและองค์กรต่อไปในอนาคต