จริงอยู่ที่ในยุคสมัยปัจจุบันที่วิทยาศาตร์กลายเป็นแกนกลางและวิธีคิดของผู้คนส่วนใหญ่ แต่ย้อนอดีตไปไม่ไกล ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็ปรากฏให้เห็นเช่นกันว่ามนุษยชาติเคยมองวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งแปลกปลอมมาก่อน ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านทางความเชื่อในวิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับการศึกษาต่อเนื่องเรื่อยมา
อย่างการศึกษาล่าสุด มีการสำรวจระดับโลกที่ครอบคลุมกว่า 68 ประเทศทั่วโลกที่แสดงให้เห็นว่าประชาชน “ยังคง” มีความเชื่อมั่นสูงในวิทยาศาสตร์อยู่ โดยการวิจัยครั้งนี้นำโดยมหาวิทยาลัยซูริคและ ETH Zurich ที่มีทีมนักวิจัยกว่า 240 คนทำการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ ความคาดหวังของสังคม และมุมมองของประชาชนต่อประเด็นการวิจัยที่สำคัญหลังยุคโรคระบาด
ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในนักวิทยาศาสตร์ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงจากทั่วโลก โดยพบว่าประชากรใน 68 ประเทศ รวมถึงประเทศในเขต Global South ที่ยังมีระดับการศึกษาเฉลี่ยไม่สูงมาก ทั้งหมดล้วนมองว่าวิทยาศาสตร์คือศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือ และยังมีข้อสังเกตุคือประชากรหลายคนอยากให้นักวิทยาศาสตร์มีบทบาทมากขึ้นในสังคมและการเมืองด้วย
โดยการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TISP Many Labs ที่ศึกษาในประชากร 71,922 คนทั่วโลก ซึ่งหลังการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีข้อมูลการสำรวจที่ครอบคลุมว่าประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ของโลกเห็นว่าวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์มีความน่าเชื่อถือแค่ไหนและควรมีบทบาทเชิงรุกในสังคมอย่างไร
แต่ถึงกระนั้น ผลการวิจัยก็ชี้ให้เห็นถึงจุดที่น่ากังวลอยู่บ้าง เช่นรายงานที่เปิดเผยว่ามีเพียง 42% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เชื่อว่านักวิทยาศาสตร์คำนึงถึงความคิดเห็นของศาสตร์ โดย Niels G. Mede ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวว่า "ผลลัพธ์ของเรายังแสดงให้เห็นว่าหลายคนรู้สึกว่าเป้าหมายของวิทยาศาสตร์บางครั้งไม่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา และเสนอให้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสในการสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น”
โดยในตอนท้ายของรายงานวิจัย ยังได้มีการกล่าวถึงด้วยว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญสูงต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาสุขภาพสาธารณะ แก้ไขปัญหาพลังงาน และลดความยากจน แต่ในทางตรงกนัข้าม การวิจัยที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันและการทหารกลับได้รับความสำคัญที่ต่ำกว่า โดยมีความเชื่ออย่างชัดเจนจากผู้เข้าร่วมงานวิจัยว่า วิทยาศาสตร์กำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการป้องกันและการทหารมากกว่าที่ประชากรต้องการ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการของประชาชนและลำดับความสำคัญของการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์นั่นเอง