งานวิจัย 20 ปีว่าด้วยสมรสเท่าเทียม ยิ่งเกิดขึ้น ความรักยิ่งเบ่งบาน

ในที่สุด วันที่หลายคนรอคอยก็มาถึง กับพรบ.สมรสเท่าเทียมที่ถูกบังคับใช้จริงเสียที ดังนั้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระนี้ เราจึงอยากหยิบเอางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยามาบอก ว่าในประเทศที่ประกาศให้มีการสมรสเท่าเทียมก่อนหน้า เกิดผลกระทบอะไรบ้างต่อประชากรทุกเพศในประเทศนั้นๆ


โดยการศึกษานี้เพิ่งเผยแพร่โดย RAND และ UCLA เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเป็นการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาที่อนุมัติกฏหมายการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ในสหรัฐอเมริกา “ไม่มีผลกระทบเชิงลบ” ที่เกิดขึ้นต่อการแต่งงานใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้าง หรือความสัมพันธ์ของคู่รักต่างเพศ การบังคับใช้กฏหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้สร้างความแตกต่างใดๆ


ในทางตรงกันข้าม การวิเคราะห์ใหม่นี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อการแต่งงานในประชากรโดยรวมด้วยซ้ำ เช่น การเพิ่มขึ้นของอัตราการแต่งงานโดยรวม หรือการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติวัยรุ่นต่อการแต่งงานในรัฐที่ได้ให้สถานะทางกฎหมายแก่คู่รักเพศเดียวกัน ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นถึงประโยชน์แก่คู่รักเพศเดียวกันโดยไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อคู่รักต่างเพศแต่อย่างใด


"หลายคนที่เคยคัดค้านการให้สิทธิในการแต่งงานแก่คู่รักเพศเดียวกันเคยคาดการณ์ว่าสิ่งนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ต่อการแต่งงานแย่ลง หรือทำให้คู่รักแต่งงานน้อยลงและหย่าร้างมากขึ้น" ศาสตราจารย์เบนจามิน อาร์. คาร์นี ผู้เขียนร่วมของการศึกษากบ่าว "แต่ผลลัพธ์ที่เราได้กลับไม่เป็นเช่นนั้นนะ"


ในรายละเอียดของการศึกษายังพบด้วยว่าเมื่อรัฐต่าง ๆ อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงาน จำนวนการแต่งงานในรัฐเหล่านั้นจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะเป็นผลจากการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเพียงอย่างเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจในการแต่งงานที่เพิ่มขึ้นในสังคม โดยการสำรวจยังพบอีกด้วยว่าในปัจจุบันมีประชาชนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันที่สนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน


นอกจากนี้, การวิจัยยังค้นพบว่า การขยายการรับรองทางกฎหมาย เช่น การแต่งงานและการจัดตั้งสหภาพพลเมืองไปยังคู่รักเพศเดียวกันนั้นส่งผลดีต่อคู่รักเพศเดียวกัน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะการลดความเครียดทางจิตใจในคู่รักเพศเดียวกันที่มีสิทธิในการแต่งงาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงประกันสุขภาพและการลดอัตราการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ด้วย


"การเปลี่ยนแปลงที่เราพบมีแนวโน้มที่จะทำให้การแต่งงานกลับมามีความสำคัญมากขึ้นในสายตาของสาธารณะ อีกทั้งยังไม่มีพื้นฐานทางงานวิจัยใด ๆ ที่จะสนับสนุนความกังวลว่าการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานจะส่งผลเสียต่อคู่รักต่างเพศหรือครอบครัว" ศาสตราจารย์เบนจามิน กล่าวทิ้งท้าย