จากงานวิจัยทดสอบการทำงานของสมองล่าสุด ยิ่งไม่นอน สมองยิ่งจำเรื่องแย่ๆ ได้

เคยเป็นไหม เวลามีเรื่องเครียดมากๆ แล้วมักจะนอนไม่หลับ หรือถ้าหลับ อีกไม่นานก็มักตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้เลย ซึ่งนอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นความทรมานแล้ว ผลการศึกษาด้านการทำงานของสมองล่าสุดยังตอกย้ำด้วยว่าการนอนน้อยเหล่านั้น ยิ่งทำให้เราจำเรื่องเครียดๆ ที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเดิมเสียกอีก


โดยการศึกษานี้มาจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (UEA) ที่พบว่าการนอนหลับแบบไม่มีประสิทธิภาพหรือการนอนไม่เพียงพอนั้นส่งผลเสียที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากสมองอาจมีการทำงานที่บกพร่องในส่วนที่ควบคุมความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาอีกหลายอย่าง เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล เป็นต้น


งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกทางจิตใจและประสาทวิทยาที่เชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับและสุขภาพจิต ซึ่งผู้ศึกษาตั้งใจให้ความพยายามครั้งนี้ส่งผลต่อการช่วยพัฒนาวิธีการรักษาและกลยุทธ์ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้


ดร. มาร์คัส แฮร์ริงตัน อาจารย์จาก UEA เป็นผู้เขียนหลักของงานศึกษาชิ้นนี้ ได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในการใช้เทคนิคการถ่ายภาพการทำงานของสมอง (Functional Neuroimaging) ผ่านการทดลองที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 85 คน ที่พยายามกดหรือป้องกันความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์ในขณะที่ทำการถ่ายภาพสมอง โดยกลุ่มหนึ่งได้รับการนอนหลับเต็มที่ก่อนการทดลอง ขณะที่อีกกลุ่มอดหลับทั้งคืน


ผลการทดลองพบว่าผู้ที่ได้นอนหลับเต็มที่มีการกระตุ้นในบริเวณสมองชื่อ “dorsolateral prefrontal cortex” มากกว่ากลุ่มที่อดนอน ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานที่ลดลงของฮิปโปแคมปัสในระหว่างการพยายามกดความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมที่ใช้เวลามากขึ้นในการนอนจะมีคุณสมบัติในการกระตุ้น dorsolateral prefrontal cortex ได้ดีกว่า ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการนอนหลับมีบทบาทในการฟื้นฟูกลไกที่ช่วยให้สมองสามารถควบคุมความทรงจำที่ไม่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


หรือพูดง่ายๆ ว่ายิ่งนอน ก็ยิ่งลืมเรื่องแย่ๆ ได้ แต่ถ้าไม่นอน ก็ยิ่งจำเรื่องแย่ๆ ได้นั่นเอง


“ความทรงจำจากประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์สามารถแทรกเข้ามาในจิตสำนึกและรบกวนความคิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้าและความวิตกกังวล" ดร. แฮร์ริงตัน กล่าวทิ้งท้าย


ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับในการควบคุมความทรงจำและความคิดให้อยู่ในสภาวะที่สงบและมีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนหลับที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูกลไกการควบคุมของสมอง ซึ่งช่วยให้เราสามารถกรองข้อมูลที่ไม่ต้องการและป้องกันไม่ให้ความทรงจำที่ไม่สร้างสรรค์หรือเป็นลบแทรกเข้ามารบกวนอารมณ์และจิตใจ ดังนั้นการเข้าใจกลไกเหล่านี้จะช่วยให้เราพัฒนาวิธีการรักษาและกลยุทธ์ในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น