ในชีวิตประจำวัน มนุษย์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอยู่เสมอ โดยขนาดและความสำคัญของผลกระทบจากการตัดสินใจนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิตนั้นถึงไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่พอเกิดขึ้นทีก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มักส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง วึ่งนั่นเองที่ทำให้เกิดงานวิจัยล่าสุดที่มีเป้าหมายในการศึกษาสถานการณ์เหล่าดังกล่าว โดยเน้นที่การทำความเข้าใจและวิเคราะห์การตัดสินใจในบริบทที่ท้าทายและซับซ้อนที่สุดในชีวิตของมนุษย์
บทความวิจัยนี้มาจาก Max Planck Institute for Human Development ที่ได้นำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการตัดสินใจสำคัญในชีวิตยิ่งใหญ่ในระดับที่ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตและตัวตนของบุคคลในทางที่ยากจะย้อนกลับได้ ตัวอย่างการตัดสินใจ เช่น การย้ายถิ่นฐาน การลาออกจากงาน การสิ้นสุดความสัมพันธ์ระยะยาว หรือแม้กระทั่งการรายงานการล่วงละเมิดทางเพศ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างลึกซึ้ง
โดยงานวิจัยได้ระบุว่า 5 มิติหลักที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำหรับการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ระดับนี้ ได้แก่
ความขัดแย้งของข้อมูล (Conflicting Cues) หมายถึงการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าและข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ซึ่งทำให้การเปรียบเทียบเป็นเรื่องยาก เช่น การย้ายถิ่นฐานอาจมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องแลกกับการทิ้งคนที่รักไว้เบื้องหลัง
ความเปลี่ยนแปลงในตัวตน (Change of Self) หมายถึงการตัดสินใจเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงคุณค่าและตัวตนของบุคคล เช่น การเป็นพ่อแม่หรือการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระยะยาว
คุณค่าที่ไม่แน่นอนของประสบการณ์ที่คาดหวัง (Uncertain Experiential Value) หมายถึงความไม่แน่นอนว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือนำไปสู่ความเสียใจ
การตัดสินใจที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ (Irreversibility) หมายถึงการตัดสินใจหลายอย่างเช่นการหย่าร้างหรือการย้ายประเทศมีลักษณะที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับได้
และความเสี่ยง (Risk) หมายถึงการตัดสินใจเหล่านี้มักมาพร้อมกับความเสี่ยงทางกายภาพ จิตใจ สังคม หรือการเงินในระดับสูง
โดยนอกจากกรอบแนวคิดมิติใหม่จาก Max Planck Institute for Human Development แล้ว ทีมวิจัยยังได้เสนอวิธีการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น การใช้เทคนิค tallying หรือการนับเหตุผลที่เป็นบวกและลบ โดยไม่ต้องให้ความสำคัญกับแต่ละเหตุผลมากนัก, การตัดสินใจให้สอดคล้องกับตัวตนในอุดมคติ, การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น, การทดลองทำสิ่งเล็ก ๆ ก่อนที่จะเลือกทำจริง หรือการดำเนินการทีละน้อยเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การจัดการด้านที่อยู่อาศัยให้มั่นคงก่อนย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น
ซึ่งในตอนท้ายของข้อเสนอ ผู้ศึกษายังได้เน้นย้ำไว้ด้วยว่าการวิจัยนี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีที่เราเข้าใจต่อการตัดสินใจใหญ่ ๆ ในชีวิต แต่ยังเปิดโอกาสในการศึกษารูปแบบการตัดสินใจใหม่ ๆ ในอนาคตที่มีต่อผลกระทบในชีวิตประจำวัน เช่น ความสัมพันธ์ การทำงาน และการย้ายถิ่น อีกทั้งผลการวิจัยยังสามารถประยุกต์ใช้สำหรับผู้คนในหลากหลายบริบท เช่น ผู้กำหนดนโยบาย โค้ช นักบำบัด และองค์กรที่ให้การสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิต เนื่องจากการรับรู้แนวทางที่คนเลือกปฏิบัติต่อการตัดสินใจใหญ่ ๆ อาจช่วยให้สามารถออกแบบโปรแกรมและนโยบายที่ตอบสนองต่อความซับซ้อนของการตัดสินใจเหล่านี้ได้ เช่น การย้ายถิ่นฐานหรือการดูแลระยะยาว เป็นต้น