เมอร์รี่ คริสต์มาสต์!
สำหรับใครหลายคน วันคริสต์มาสต์คือวันสำคัญ ยิ่งถ้าเป็นในบริบทของโลกตะวันตก บรรยากาศในช่วงนี้ก็มักเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองและเหล่าซานต้าที่เราจะเห็นในบริบทต่างๆ แต่รู้ไหมว่าด้วยความสำคัญนี้เอง ที่ในบางกรณีวันคริสต์มาสต์และซานต้ากลับกลายเป็นคำขู่ต่อเหล่าเด็กดื้อไปเสียอย่างนั้น
เพราะจากการศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่เก็บข้อมูลจากโรงเรียนอนุบาลในเมือง พวกเขาพบว่าเมื่อเด็กเล็กแสดงพฤติกรรมที่ท้าทายหรือดื้อต่อผู้ปกครอง มีผู้ปกครองถึง 25% ที่เลือกใช้ “วิธีการขู่” อย่างการบอกว่า “ปีนี้ซานต้าจะไม่มาหา” รวมถึงการขู่อื่นๆ เช่น การยึดของเล่น หรือขู่ว่าจะไม่ให้ทานของหวาน ในขณะที่เกือบครึ่งของผู้ปกครองยังยอมรับอีกว่าได้ใช้การติดสินบนกับลูกเพื่อควบคุมพฤติกรรม
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยผลตัวเลขนี้ ดร.ซูซาน วูลฟอร์ด กุมารแพทย์ของโรงพยาบาลมิชิแกนได้แนะนำว่าทิศทางดังกล่าวเป็นไปในทางที่ไม่สวควร เนื่องจากการขู่ให้กลัวโดยปราศจากการเสริมให้เรียนรู้นี้อาจทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ปกครองต่อเด็กได้ รวมถึงยังไม่ค่อยได้ผลในทางปฏิบัติด้วย ดร.ซูซานจึงแนะนำการเสริมแรงทางบวกและการลงโทษที่สม่ำเสมอมากกว่า เพราะจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวได้ดีกว่า
โดยเธอเน้นย้ำว่าความสม่ำเสมอคือสิ่งสำคัญ แต่จากประสบการณ์ของดร.ซูซานเอง ผู้ปกครองหลายคนกลับมีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากพอลูกยังเป็นเด็กเล็ก หลายครั้งพวกเขามักคิดว่าลูกยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจวิธีการอะไรก็ตามที่ถาวร จึงเลือกใช้วิธีการง่ายๆ แทน หรือความเหนื่อยล้าของผู้ปกครองเองก็เป็นอุปสรรคต่อการรักษาความสม่ำเสมอนี้เช่นกัน
ดังนั้นคำแนะนำของดร.ซูซานก็คือผู้ปกครองควรมีการวางแผนล่วงหน้าและตกลงกันในเรื่องวิธีการลงโทษและเสริมแรง เพราะจะช่วยป้องกันพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ ส่วนเรื่องวิธีการที่เหมาะสมของเด็กแต่ละช่วงอายุ สำหรับเด็กอายุหนึ่งถึงสองปี การเบี่ยงเบนความสนใจอาจได้ผลดีกว่า เพราะเด็กวัยนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างจงใจ แต่เมื่อเด็กอายุมากขึ้นจนเริ่มเข้าใจว่าการกระทำของตนจะนำมาซึ่งปฏิกิริยาจากผู้อื่น ในเวลานั้นผู้ปกครองอาจพิจารณาใช้วิธีการเตือนหรือการให้เวลานอกกับเด็กแทนการขู่
และอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ ดร.ซูซานเน้นย้ำว่าการเสริมแรงหรือบทลงโทษควรเป็นผลที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเหมาะสม เพื่อให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำและผลที่ตามมา และการลงโทษก็ควรสัมพันธ์กับพฤติกรรม เช่น หากเด็กทำน้ำหก ก็ควรให้พวกเขาทำความสะอาดเอง เป็นต้น
สุดท้าย ดร.ซูซานได้ทิ้งท้ายว่าเนื่องจากเด็กแต่ละคนตอบสนองต่อวิธีการลงโทษแตกต่างกัน ดังนั้นถึงจะมีแบบแผนที่ตกลงกันเพื่อความสม่ำเสมอแล้ว เมื่อถึงคราวใช้จริงผู้ปกครองก็ควรยืดหยุ่นและปรับวิธีการตามความจำเป็น กล่าวคือเป็นการหาวิธีการลงโทษและให้รางวัลที่เหมาะสมกับเด็กจริงๆ โดยเมื่อเจอแล้วก็รักษาความสม่ำเสมอนั้นไว้ เพียงเท่านี้เด็กก็จะพัฒนาไปในทางที่ถูกที่ควรแล้ว
หนำซ้ำ ซานต้าจะได้กลายเป็นความทรงจำดีๆ ของเด็กให้ได้นานที่สุดด้วยนะ