จิตวิทยาเบื้องหลัง Squid Game ทำไมมนุษย์ในเกมทุนนิยมถึงโหดร้าย?

ถึงนาทีนี้คงไม่มีซีรีย์เรื่องไหนในโลกที่ดึงดูดสายตาจากผู้ชมทั่วโลกได้มากกว่าซีรีย์ Squid Game 2 อีกแล้ว ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากภาคแรกได้เป็นอย่างดีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงใน Netflix อีกทั้งที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือซีรีย์ไม่ได้สร้างเพียงแค่ความบันเทิง แต่ยังสร้างการสนทนาต่อยอดถึงแนวคิดด้านจิตวิทยาและสังคมผ่านซีรีย์ได้อย่างลึกซึ้งด้วย


เปล่าเลย, เราไม่ได้จะสปอยล์แต่อย่างใด แต่แค่จะหยิบเอาแรงกดดันในการเล่นเกมชีวิต การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด และการตัดสินใจที่ยากลำบากในสถานการณ์ที่เลวร้ายจากซีรีย์มาใส่แว่นทางจิตวิทยาเพื่อดูสืบเสาะหาเบื้องหลังเท่านั้น ว่าหลักการทางจิตวิทยาที่ปรากฏใน Squid Game นั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และกับสถานการณ์ที่เราเห็นบนหน้าจอ สิ่งที่ตัวละครเลือกทำสามารถทำความเข้าใจได้ผ่านแง่มุมไหน


เริ่มกันที่ข้อแรกกันเลย นั่นคือ “กฎ Yerkes-Dodson” ที่ได้อธิบายไว้แรงกดดันบางอย่างสามารถช่วย “เพิ่มประสิทธิภาพ” ในการทำงานได้ แต่ถ้าแรงกดดันนั้นมากเกินไป จากที่เพิ่มประสิทธิภาพจะกลายเป็นว่าทำให้ผลลัพธ์แย่ลง ซึ่งใน Squid Game การที่ผู้แข่งขันต้องเผชิญกับเกมที่มีความตายเป็นเดิมพัน ความกดดันที่ตามมาจึงสูงมาก ส่งผลให้การเล่นเกมที่ดูเหมือนง่าย เช่น การตัดขนมในภาคแรก หรือการโยนของให้โดนเป้าหมายในภาคสองกลายเป็นเรื่องยากทันทีเมื่อต้องแข่งขันภายใต้แรงกดดันดังกล่าว


หรือถ้าเปลี่ยนมุมมองจากผู้เล่นมามองผู้คุมกฎในชุดสีชมพู เราจะพบกลไกทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า “Deindividuation” หรือการทำให้ผู้คุมที่ใช้ชุดเดียวกันและหน้ากากใกล้เคียงกันนั้นรู้สึกว่าตนเองไม่มีความโดดเด่นใดๆ ถ้าเทียบกับคนที่ทำแบบเดียวกัน ซึ่งความไม่เด่นนี้จะส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมากกว่าการเป็นตัวของตนเอง อีกทั้งยังส่งผลทางอ้อมให้พวกเขาสามารถทำสิ่งที่โหดร้ายได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกถึงการมีตัวตนเป็นเอกเทศน์ของตนเองอีกแล้ว แต่พวกเขาคือองค์การ ที่การทำร้ายคนอื่นคือเรื่องที่ยอมรับได้


และอีกหนึ่งหลักการที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือปรากฏการณ์ “Foot-in-the-door Phenomenon” ที่หมายถึงการที่คนมีแนวโน้มตอบรับคำขอที่ใหญ่ขึ้นหลังจากตอบรับคำขอเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการเลื่อนลำดับขึ้นของเงินรางวัลที่ยิ่งรางวัลใหญ่ คนที่อยากเล่นเกมต่อยิ่งมีมากขึ้น รวมถึงในแง่ของการที่ช่วงแรกของเกมผู้เล่นยังไม่ทำร้ายกัน แต่เมื่อพวกเขาเผชิญกับแรงกดดันและเริ่มทำร้ายกันผ่านเกมมากขึ้นๆ การใช้ความรุนแรงต่อกันนอกเกมจึงเริ่มกลับกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิมนั่นเอง


ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Squid Game นอกจากจะสร้างความตื่นเต้นและน่าติดตามแล้ว ซีรีย์ยังสอดแทรกข้อคิดทางจิตวิทยาที่ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในสถานการณ์ที่เลวร้ายด้วย ซึ่งดูเหมือนข้อคิดดังกล่าวยังคงดำเนินไปและขยายมากกว่าเดิมในซีซั่นต่อไปเช่นกัน ว่าแล้วก็มารอดูกันนะ ว่ากลางปีหน้าบทสรุปของ Squid Game จะเป็นอย่างไร