จากผลตอบรับของซีรีส์ “อนาคต” ใน Netflix ที่เป็นไปในทางที่ดี การพูดถึงต่อเนื่องในประเด็นของโลกอนาคตต่อเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของศาสนาไปจนถึงเรื่องใต้ร่มผ้าก็เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่นหนึ่งตอนในซีรีส์อย่าง “เทคโนโยนี” ที่นำเสนอโลกทัศน์เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ พร้อมตั้งคำถามต่อพวกเราคนดูได้เป็นอย่างดี
เปล่า, เราไม่ได้จะมาสปอยล์แต่อย่างใด แต่อยากชี้ให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวในโลกของงานวิจัยในชีวิตจริง ว่าในช่วงไม่เกินสิบปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์และเรื่องทางเพศมีความเกี่ยวพันและได้รับการศึกษาไปถึงไหนแล้ว
อย่างงานวิจัยแรกโดย Elen Nas และ Eugenio Silva ที่ศึกษาแนวคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ในแง่มุมของจริยธรรมทางชีวภาพ โดยผู้วิจัยตอบ 3 คำถามของงานวิจัยที่น่าสนใจ ดังนี้
คำถามงานวิจัยที่ 1 ตลอดเวลาที่ผ่านมา หุ่นยนต์ทางเพศถูกออกแบบโดยแนวคิดแบบไหน? ผู้วิจัยเสนอว่าการออกแบบหุ่นยนต์ทางเพศส่วนใหญ่เป็นไปตามการขับเคลื่อนของกลไกตลาด กล่าวคือในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้ชายเป็นกลุ่มลูกค้าหลักสำหรับหุ่นยนต์ทางเพศ ดังนั้นการออกแบบหุ่นยนต์ทางเพศตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นไปตามอคติทางเพศของผู้ชาย ถึงมีความสนใจที่หลากหลายทากขึ้นในความคิดเห็นของผู้ใช้ แต่ถ้าดูตามตัวเลย แนวทางยังคงเอียงไปทางความต้องการของผู้ชายอยู่ดี
คำถามงานวิจัยที่ 2 การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์ทางเพศกับมนุษย์เป็นอย่างไร? ผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ทางเพศนั้นเป็นไปได้อย่างหลากหลายมากๆ อย่างบางครั้งก็เป็นไปตามการใช้งานเชิงฟังก์ชั่นล้วนๆ แต่บางครั้งเกี่ยวข้องกับความผูกพันทางอารมณ์ ความเป็นเพื่อน หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์คล้ายคู่รัก ผู้วิจัยจึงเน้นย้ำถึงในสภาวะปัจจุบัน ที่อุตสาหกรรมการผลิต “Sex Robot” ยังคงขาดมาตรการที่ได้มาตรฐานในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างจริงจัง
คำถามงานวิจัยที่ 3 ประเด็นทางเพศและจริยธรรมที่น่ากังวลใจมีอะไรบ้าง? ผู้วิจัยเผยว่าหนึ่งในปัญาหาสำคัญมากเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทางเพศคืออคติทางเพศของผู้ชายที่มีอยู่อย่างรุนแรง ทั้งในด้านการออกแบบ การมีปฏิสัมพันธ์ และแม้แต่การอภิปรายทางจริยธรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ทางเพศ กล่าวคือตามการสำรวจ พวกเขาพบว่าผู้ใช้เพศชายหลายคนเมื่อได้ลองใช้หุ่นยนต์ทางเพศแล้ว มีโอกาสที่พวกเขาจะมองคู่ร่วมเพศตรงหน้าเป็น “วัตถุ” มากขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่ทัศนคติทางเพศเชิงลบที่มากขึ้นได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะในอนาคตที่หุ่นยนต์ทางเพศได้รับความนิยมมากขึ้น รอยร้าวดังกล่าวอาจเกิดกลายเป็นปัญหาได้
หรืออย่างบทความพิเศษในวารสาร Journal of Future Robot Life เรื่องความรักและเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ (International Congress on Love and Sex with Robots) ในปี 2020 ที่ได้ทำการศึกษาหลายงานวิจัยก่อนหน้าเพื่อนำมาสรุปความ ผู้ศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าหัวข้อเรื่องความใกล้ชิดและเพศสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรนั้นอยู่ในขอบเขตของนิยายวิทยาศาสตร์เป็นหลักมาโดยตลอด จนกระทั่งการเริ่มศึกษาโดย Levy ในปี 2007 จำนวนบทความทางวิชาการที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นในหัวข้อนี้ สอดคล้องกับเทคโนโลยี Sex Robot ที่เริ่มใกล้เข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้นเช่นกัน จนในปัจจุบันการวิจัยด้านความรักและเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ก็แผ่ขยายไปสู่ศาสตร์แขนงต่างๆ มากขึ้นแล้ว เช่น เทคโนโลยีทางเพศ ไซเบอร์เซ็กซ์ ดิจิเซ็กซ์ และโรโบติกส์ เป็นต้น
แต่ในอนาคตล่ะ ภูมิทัศน์ของเรื่องราวความสัมพันธ์นี้จะเป็นอย่างไร? แน่นอนว่านั่นเป็นคำถามที่อาจยังไม่มีใครตอบชี้ชัดได้ อย่างในซีรีส์เรื่อง “อนาคต” ก็เป็นหนึ่งในการนำเสนอคำตอบแบบหนึ่ง แต่ในกรณีกับงานวิจัย มีอยู่บ้างเหมือนกันที่ได้ทำการศึกษาและเสนอคำตอบในหลายๆ แง่มุม เช่น งานวิจัย Peiqiao Li ในปีนี้ ทำนำเสนอในหัวข้อ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหุ่นยนต์เซ็กส์สามารถแทนที่มนุษย์ได้?” (What Would Happen If Sex Robots Could Replace Human Partners?) โดยสุดท้ายผู้วิจัยได้สรุปจากมุมมองตนเองว่าด้วยคุณสมบัติของหุ่นยนต์ทางเพศ เขาเห็นว่านวัตกรรมนี้เป็นภัยคุกคามต่อ “การเลือนรางอัตลักษณ์มนุษย์” แต่อย่างไรก็ตามผู้วิจัยก็ได้พบว่า Sex Robot ยังมีด้านบวก เช่น สำหรับผู้สูงอายุที่นวัตกรรมสามารถช่วยให้พวกเขามีชีวิตทางเพศที่น่าพึงพอใจมากขึ้น เป็นต้น