รู้หรือไม่ มีฝูงน้องหมาในเชอร์โนบิล และตอนนี้น้องกลายพันธ์เพื่อความอยู่รอดแล้ว

ภัยพิบัติเชอร์โนบิลซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน1986 ยังคงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์


สำหรับใครที่ไม่ทราบ อธิบายอย่างสั้น นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ปัจจุบันคือพื้นที่ของประเทศยูเครน) โดยในระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในช่วงกลางคืนที่บุคลากรตั้งใจจะจำลองการขัดข้องของไฟฟ้า ข้อบกพร่องในการออกแบบ ข้อผิดพลาดของมนุษย์ และการสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้กระบวนการที่ควรจะเป็นแค่การจำลอง กลับทำให้เกิดการพุ่งขึ้นของพลังงานที่ควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้เครื่องปฏิกรณ์ 4 ระเบิด ปล่อยสารกัมมันตรังสีจำนวนมหาศาลสู่สิ่งแวดล้อม


หลังจากเกิดภัยพิบัติ ประชาชนในรัศมีหลายกิโลเมตรถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ทันที จนเกิดเป็นพื้นที่กักกันเชอร์โนบิล (Chernobyl Exclusion Zone) ที่มีระดับรังสีสูงถึงหกเท่าของขีดจำกัดความปลอดภัยสำหรับมนุษย์ โดยจนถึงปัจจุบัน ระดับรังสีเหล่านั้นก็ยังคงอยู่และเป็นอันตราย และการจะเข้าไปในพื้นที่กักกันบางจุดต้องได้รับการอนุญาตและมีมาตรการป้องกันเท่านั้น


แต่รู้ไหมว่าในช่วงอพยพแบบกะทันหันเมื่อครั้งอดีต สถานการณ์ดังกล่าวบังคับให้ผู้คนจำนวนมากต้องทิ้งสัตว์เลี้ยงของตนเองไว้ข้างหลัง ส่งผลให้สุนัขหลายร้อยตัวกลายเป็นผู้อาศัยโดยไม่ได้ตั้งใจภายในโซนรกร้างนี้ โดยดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมภายในที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เพราะระดับรังสีพุ่งสูงขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา ทำให้เกิดผลกระทบทางนิเวศวิทยาแบบเฉียบพลัน ยกตัวอย่างเช่นพืชพรรณบางชนิดที่ตายทันที เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นทุ่งว่างเปล่า หรืออย่างป่าที่ตอนนี้รู้จักกันในชื่อป่าแดง (Red Forest) ก็เกิดจากผลกระทบต่อต้นสนที่ทำให้ต้นสนบางส่วนตายไป ส่วนต้นที่เหลือรอดก็ได้รับผลกระทบจากรังสีจนเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีสนิมเนื่องจากการสัมผัสรังสีอย่างรุนแรง


ซึ่งถ้าคิดแบบไวๆ เหล่าสรรพสัตว์ในพื้นที่ก็น่าจะได้รับผลกระทบแบบเดียวกันใช่ไหม คำตอบคือใช่ แต่ก็แค่บางส่วน เพราะอย่างน้องหมาที่หลงเหลือในเขตกักกันหรือสัตว์อีกหลายชนิดที่ไม่ได้รับรังสีจนถึงขั้นเสียชีวิต สัตว์ท้องถิ่นเหล่านั้นกลับเกิดการฟื้นตัวและปรับตัวอย่างไม่คาดคิด จนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่นี้กลายเป็นที่หลบภัยของสัตว์หลายชนิดไปแล้ว เช่นน้องหมา รวมถึงหมาป่า หมี และม้าพรีวอลสกี้ (Przewalski’s horse) ที่ใกล้สูญพันธุ์ด้วย


แต่ความมหัศจรรย์นี้เองที่ทำให้เกิดข้อสงสัยและหลายงานวิจัยตามมา ว่าทำไมสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่จึงอยู่รอดจากระดับรังสีดังกล่าวได้ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยล่าสุดที่นำโดย Dr. Norman J. Kleiman เมื่อปี 2023 ที่ใช้ตัวอย่างเลือดจากสุนัขครึ่งป่าในพื้นที่กักกันมาทำการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ก่อนที่เขาจะพบความจริงที่น่าตกใจว่ามีการแบ่งแยกทางพันธุกรรมอย่างมีนัยสำคัญในประชากรสุนัขสองกลุ่มในพื้นที่นี้ แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก


โดยการวิเคราะห์พบว่าประชากรสุนัขในเขตกักกันมีลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันถึงเกือบ 400 ตำแหน่งในจีโนมจากจีโนมของสุนัขทั่วไป ซึ่งลักษณะทางพันธุกรรมเหล่านี้บ่งชี้ถึง “การกลายพันธุ์” ที่เป็นคำตอบสำหรับการช่วยให้สุนัขปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ โดยถ้าลงลึกไปกว่านั้น ผู้วิจัยพบว่าหลายยีนที่เปลี่ยนแปลงพบมีการเชื่อมโยงกับกลไกในการซ่อมแซม DNA อย่างสูง กล่าวคือเป็นการการปรับตัวทางพันธุกรรมเพื่อรับมือกับการสัมผัสรังสีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน


และนอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงในระดับ DNA แล้ว ในเชิงพฤติกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยผู้วิจัยพบว่าสุนัขในพื้นที่นี้ต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่รุนแรง การขาดแคลนอาหาร และการสัมผัสรังสีอย่างต่อเนื่อง แต่สุนัขเหล่านี้กกลับเรียนรู้ที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อหาอาหารและการดูแล ตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ที่ผู้วิจัยเคยคิดไว้ ว่าสัตว์ในพื้นที่กักกันอาจจะดุร้าย


แต่คำถามที่ว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับ DNA นี้จะทำให้น้องหมาในเชอร์โนบิลเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรต่อ นั่นคงเป็นความสงสัยที่เราคงได้แต่เฝ้าดู แต่อย่างน้อยการวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงผลกระทบระยะยาวของภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมต่อสิ่งมีชีวิตและวิธีการที่สิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายอย่างถึงที่สุดได้เช่นกัน