“เรือนจำเชิงจริยธรรม” คืออะไร?

ต้อนรับการมาถึงของภาพยนต์ “วัยหนุ่ม 2544” ที่พาผู้ชมย้อนกลับไปดูชีวิตในทัณฑสถานวัยหนุ่มเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ถ้าเราลองสืบเสาะหาความเป็นไปของประเด็นเดียวกันในแวดวงงานวิจัยช่วงนี้ เราจะพบว่า “เรือนจำ” ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่หลายคนหยิบยกมาทำการวิจัยในแง่มุมต่างๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีจุดประสงค์ไปในทางเดียวกัน นั่นคือความพยายามในการพัฒนาเรือนจำให้เกิดผลดีต่อผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่มากขึ้นกว่าที่เคย


อย่างงานวิจัย “What is Ethical Prison Architecture? An Exploration of Prison Design and Wellbeing” โดย Kelsey Engstrom และ Esther van Ginneken เมื่อปีที่แล้ว ที่พวกเขาได้นำเสนออีกหนึ่งความพยายามในการทำให้เรือนจำสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ผ่านการออกแบบที่พวกเขานิยามว่าเป็น “การออกแบบเรือนจำเชิงจริยธรรม”


เรือนจำเชิงจริยธรรมในมุมของ Engstrom และ van Ginneken คืออะไร? พวกเขาหมายความถึงการการออกแบบเรือนจำที่คำนึงถึงปัจจัยทางกายภาพ สุขภาวะและสวัสดิการของทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เป็นหลัก เพื่อเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของผู้คน ผ่านหลักการที่เน้นการส่งเสริมจริยธรรมในตัวมนุษย์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังให้มีโอกาสมากขึ้นกว่าที่เคย


โดยในบทความวิจัย ผู้วิจัยชี้ให้เห็นถึงการออกแบบองค์ประกอบย่อยต่างๆ ที่สำคัญที่ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพกายและจิตใจของผู้ต้องขัง แบ่งออกเป็น 5 องค์ประกอบ ดังนี้


1.แสงสว่าง - Engstrom และ van Ginneken ชี้ให้เห็นว่าการได้รับแสงแดดธรรมชาติอย่างเพียงพอมีความสำคัญต่อสุขภาพจิต คือช่วยลดภาวะซึมเศร้า แถมยังส่งเสริมการสร้างวิตามินดี และปรับนาฬิกาชีวภาพให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการออกแบบเรือนจำควรคำนึงถึงการนำแสงธรรมชาติเข้ามาให้มากที่สุด เช่น การออกแบบหน้าต่างขนาดใหญ่ และการจัดวางอาคารให้รับแสงแดดได้อย่างเหมาะสม รวมถึงควรจะอำนวยให้ผู้ต้องขังสามารถควบคุมแสงสว่างในพื้นที่ส่วนตัวของตนเองได้ เช่น การเปิดหรือปิดช่องทางรับแสง เพราะจะเป็นการส่งเสริมความรู้สึกเป็นอิสระและความสามารถในการควบคุมสิ่งแวดล้อมของตนเอง ช่วยลดความรู้สึกไร้อำนาจและไร้ค่าได้ทางอ้อม


2.วัสดุ - Engstrom และ van Ginneken แนะนำว่าเรือนจำควรเลือกเสริมการใช้วัสดุที่ช่วยดูดซับเสียง เช่น วัสดุที่ทำจากไม้หรือแผ่นโฟมเป็นหลัก เพื่อช่วยลดเสียงรบกวนภายในเรือนจำ สร้างสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ และลดความเครียด เพราะในทางกลับกัน การใช้วัสดุที่แข็งอย่างคอนกรีตเพียงอย่างเดียว มักสะท้อนเสียงได้ ทำให้เสียงดังก้องจนเพิ่มความเครียด ดังนั้นจึงควรเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดเสียงสะท้อน รวมถึงการการเลือกใช้วัสดุที่มีความอบอุ่น เช่น ไม้ ยังช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และลดความรู้สึกเย็นชา แข็งกระด้าง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่มักพบในเรือนจำทั่วไปอีกด้วย


3.ความเป็นส่วนตัว - การจัดวางห้องในเรือนจำ Engstrom และ van Ginneken ได้บรรยายว่าสามารถคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวได้ เช่น การออกแบบห้องให้มีพื้นที่เพียงพอ การจัดวางห้องให้มีความเป็นส่วนตัว และการจัดวางห้องน้ำให้แยกเป็นสัดส่วน เพราะช่วยเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย และลดความรู้สึกถูกคุกคาม ผู้ต้องขังจะรู้สึกสงบ และสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เพราะการออกแบบที่แออัด หรือห้องที่อยู่ใกล้ชิดกันมากเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียด และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้


4.เสียงรบกวน - Engstrom และ van Ginneken เน้นย้ำถึงการลดเสียงรบกวนและการควบคุมเสียงรบกวนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากภายนอกหรือภายในเรือนจำ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิตอย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุที่ช่วยดูดซับเสียงอย่างที่กล่าวไป หรือการออกแบบผนังและฝ้าเพดานที่ช่วยลดการส่งผ่านเสียง และการติดตั้งฉนวนกันเสียง ก็สามารถช่วยลดเสียงรบกวน สร้างบรรยากาศที่เงียบสงบ และช่วยลดความเครียดได้เช่นกัน


5.พื้นที่สีเขียว - เราต่างรู้ว่าการสัมผัสกับธรรมชาติ เช่น การมองเห็นต้นไม้ หรือการมีพื้นที่สีเขียว สามารถลดความเครียด ส่งเสริมการผ่อนคลาย และปรับปรุงสุขภาพจิต ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ การออกแบบเรือนจำควรคำนึงถึงการเสริมสร้างพื้นที่สีเขียว เช่น สวน สนามหญ้า หรือการปลูกต้นไม้ภายในพื้นที่ส่วนกลางบริเวณเรือนจำ โดยแม้เป็นพื้นที่จำกัด แต่ก็สามารถสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้ อีกทั้งในบางกรณีก็อาจช่วยให้ผู้ต้องขังมีกิจกรรมผ่อนคลาย ช่วยให้พวกเขามีความหวัง และมองโลกในแง่ดีมากขึ้นด้วย


ในงานวิจัยเดียวกัน บทความวิจัยยังอ้างอิงการศึกษาต่างๆ ที่เปรียบเทียบเรือนจำประเภทอื่นๆ เช่น เรือนจำแบบเปิดและเรือนจำแบบปิดด้วย เพื่อหาข้อแตกต่างและข้อดีข้อเสียของแต่ละประเภท แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะหาหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนข้อเสนอแนะของบทความ ที่เน้นสุขภาวะของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ เพื่อเป้าประสงค์หลักคือการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขัง กล่าวคือเป็นการมองภาพรวมที่กว้างไกล ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนผ่านแกนหลักคือจริยธรรมนั่นเอง


แต่ในอีกแง่หนึ่ง งานวิจัยนี้ก็เป็นศึกษาในบริบทของวัฒนธรรมตะวันตก การนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทตะวันออกหรือประเทศไทยอาจยังเป็นเครื่องหมายคำถาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความพยายามในการหยิบเอาประเด็นดังกล่าวมาวิพากษ์นั้นเริ่มมีมากขึ้นแล้ว ซึ่งอาจรวมถึงสิ่งที่อาจจะตามมาหลังจากวัยหนุ่ม 2544 ออกฉายด้วย ดังนั้นเราคงต้องรอดูกันต่อไป ว่าความพยายามในการศึกษาทั้งหมดนี้จะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง