งานศึกษาเชิงพฤติกรรมค้นพบ มนุษย์เห็นอกเห็นใจ AI ที่ถูกบูลลี่ ราวกับ AI มีจิตใจและเป็นหนึ่งสิ่งมีชีวิตทางสังคม

ถ้ามนุษย์เข้าใจว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือสิ่งไม่มีชีวิต แล้วมนุษย์สามารถรู้สึก ‘เห็นอกเห็นใจ’ AI ได้หรือไม่? การกระทำนั้นถือว่าสมเหตุสมผลหรือเปล่า?


จากข้อสงสัยนั้น ในการศึกษาที่จัดทำโดย Imperial College London ที่เผยในวารสาร Human Behavior and Emerging Technologies ได้เปิดเผยข้อสังเกตุที่น่าสนใจแล้ว โดยทีมวิจัยทดลองจนพบว่ามนุษย์ในปัจจุบันแสดงความเห็นอกเห็นใจและรู้สึกอยากปกป้อง AI ที่ถูกกีดกันออกจากการเล่นเกมจากใจจริง ซึ่งนักวิจัยได้ชี้ว่าผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของมนุษย์ในการปฏิบัติต่อ AI เสมือนราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบ AI ในอนาคตที่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย


โดยการศึกษานี้ใช้วิธีให้มนุษย์และ AI เล่นเกมกีฬาร่วมกัน พร้อมใส่สถานการณ์ต่างๆ ลงไปแล้วเก็บข้อมูล ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมมักมีปฏิกิริยาไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การพยายามช่วย AI เข้าไปในเกม หากพวกเขารู้สึกว่า AI กำลังถูกกีดกันหรือบูลลี่ด้วยสถานการณ์ที่ผู้วิจัยหยิบยื่นมาให้ กล่าวคือเป็นลักษณะที่เหมือนกันก้บการโต้ตอบระหว่างมนุษย์ ในเชิงการแสดงความเห็นอกเห็นใจนั่นเอง


ทีมวิจัยกล่าวว่าการมีส่วนร่วมกับมนุษย์ของ AI นี้จะช่วยเพิ่มความคุ้นเคยและกระตุ้นให้เกิดการประมวลผลโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจนำไปสู่การที่ผู้คนมองว่า AI เสมือนเป็นสมาชิกในทีมจริงๆ และมีส่วนร่วมกับพวกเขาในลักษณะทางสังคม ดังนั้นในแง่หนึ่ง นี่จึงอาจเป็นประโยชน์ในกรณีของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI แต่ในอีกแง่มุม นี่ก็อาจสร้างความกังวลได้เช่นกัน เมื่อต้องใช้ AI แทนที่ความสัมพันธ์กับมนุษย์


แต่ถึงกระนั้น งานวิจัยยังได้ระบุถึงข้อจำกัดของงานวิจัยไว้ด้วยว่าสถานการณ์ที่จำลองการเล่นเกมในการทดลองของพวกเขา อาจไม่ได้สะท้อนถึงวิธีการที่มนุษย์โต้ตอบในสถานการณ์จริงได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงกำลังออกแบบการทดลองเพิ่มดูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI ในบริบทที่หลากหลาย เช่น ในห้องปฏิบัติการหรืองานที่ไม่เป็นทางการ เพื่อทดสอบว่าผลการศึกษามีขอบเขตอย่างไรบ้างในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน