สำหรับใครที่มีผู้สูงอายุที่บ้าน เคยสังเกตไหมว่ายิ่งแก่ตัวลงไปเท่าไหร่ ผู้สูงอายุจะยิ่งอยากออกไปร่วมงานสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์น้อยลงเท่านั้น โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติตามศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์ แต่รู้ไหมว่าการศึกษาล่าสุด ดูเหมือนความเข้าใจนี้จะขยายไปไกลมากกว่าเดิมด้วย
เพราะล่าสุดดร. จอช เฟิร์ธ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลีดส์และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ได้ออกมานำเสนองานวิจัยใหมา ว่าทีมวิจัยของเขาได้ค้นพบว่านอกจากมนุษย์จะมีแนวโน้มมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นแล้ว ในสัตว์หลายชนิด เช่น กวางในธรรมชาติ แมลง ลิง หรือนก ต่างก็แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรม “เมื่อแก่ตัวไป จะมีสังคมน้อยลง” ที่คล้ายมนุษย์เช่นกัน
โดยดร. เฟิร์ธ ขยายความว่าการที่บุคคลสูงวัยมีการเชื่อมโยงทางสังคมน้อยลงอาจเกิดจากการที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันข้อมูลเหมือนผู้ที่อายุน้อยอีกแล้ว นอกจากนี้การปลีกวิเวกยังเป็นการอาจลดความเสี่ยงทางสุขภาพได้อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความจริงที่ว่าระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นมนุษย์จึงพิจารณาด้านบวกของการลดลงของการเชื่อมโยงทางสังคมในช่วงสูงอายุอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การสื่อสารออนไลน์ สามารถช่วยให้มนุษย์ได้รับประโยชน์จากทั้งสองด้านแล้ว
แต่พอเปลี่ยนมุมมองมาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคมของสัตว์ในขณะที่พวกมันสูงอายุ ดร. เฟิร์ธก็ชี้ให้เห็นถึงข้อดีในมุมของสัตว์เช่นกัน โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลสัตว์มากกว่า 150 สายพันธุ์ เขาพบว่าสัตว์บางประเภทเมื่อมีอายุมากขึ้น วงสังคมจะค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ และเชื่อมโยงระหว่างกันน้อยลงอีกต่างหาก
โดยพอวิเคราะห์ ดร. เฟิร์ธให้ความเห็นว่าเหตุผลที่สัตว์มีพฤติกรรมเหล่านั้นอาจจะคล้ายกับมนุษย์เช่นกัน นั่นคือเรื่องของสุขภาพที่สัมพันธ์กับความแก่เฒ่า เช่น การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ร่วมเขียนโดยเฟิร์ธ เขาพบว่าการติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายในกวางแดงที่อาศัยอยู่ในป่า ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อสรุปที่คล้ายกัน กล่าวคือเมื่อกวางแดงอายุมากขึ้น โอกาสติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายก็ยิ่งง่ายขึ้น กวางแดงจึงลดการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มฝูงจำนวนมากเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว เหมือนกับมนุษย์ที่มีแรงจูงใจเดียวกันเช่นกัน”