ความคืบหน้าเชิงงานวิจัย AI วินิจฉัยโรคให้มนุษย์ได้หรือไม่? เราพร้อมแค่ไหน? และแพทย์ควรตั้งรับรับมืออย่างไรดี?

ถ้าเราลองมองดูความเคลื่อนไหวในแวดวงวิชาการทางการแพทย์ เราจะพบว่าในปัจจุบัน AI เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในแง่มุมต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในระดับที่ซับซ้อนอย่างการวินิจฉัยหรือตัดสินใจแผนการรักษาเกี่ยวกับโรค ยังคงมีเครื่องหมายคำถามมากเอาการอยู่เหมือนกัน แต่นั่นก็ทำให้เกิดงานวิจัยมากมายตามมาด้วย


เช่นการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Network Open โดยทีมวิจัยร่วมจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมินนิโซตา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ศูนย์การแพทย์เบธอิสราเอลดีเคนเนส และมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้แชท GPT-4 ในการวินิจฉัยผู้ป่วย


โดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีแพทย์ที่มีใบอนุญาต 50 คน ในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว, แพทย์ทั่วไป และแพทย์ฉุกเฉินมาทำการทดสอบ จนทีมวิจัยได้พบชุดข้อมูลว่าการที่แพทย์ใช้แชท GPT-4 เป็นเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัย “ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพ” ในการวินิจฉัยของแพทย์อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลที่ใช้แบบดั้งเดิม แต่ถ้าเทียบแพทย์ที่ใช้แชท GPT-4 ช่วยในการวินิจฉัย, แพทย์ที่ใช้เครื่องมือดั้งเดิม และการวินิจฉัยจากแชท GPT-4 โดยปราศจากแพทย์ผู้ใช้ ผลการทดสอบกลับพบว่าแชท GPT-4 เพียงอย่างเดียวแสดงถึงความสามารถในการวินิจฉัยที่ดีกว่า โดยมีคะแนนที่สูงกว่าผลการวินิจฉัยของแพทย์ที่ใช้แหล่งข้อมูลการวินิจฉัยออนไลน์แบบดั้งเดิมและแพทย์ที่ใช้ GPT-4 ร่วมด้วย


ดร. แอนดรูว์ โอลสัน ศาสตราจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์มินนิโซตา และแพทย์ทั่วไปที่ M Health Fairview ได้กล่าวถึงผลการทดลองนี้ไว้ว่า "AI กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อชีวิตของเรา ทั้งในและนอกวงการแพทย์ เราจึงจำเป็นต้องศึกษาการใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อให้เข้าใจว่าเราจะใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาและประสบการณ์ในการให้บริการอย่างไรได้บ้าง"


ซึ่งจากผลการศึกษา ดร.โอลสันได้ชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสในการปรับปรุงความร่วมมือระหว่างแพทย์กับ AI ในการปฏิบัติงานทางคลินิกอีกมาก แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความซับซ้อนในการนำ AI มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในทางการแพทย์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการศึกษาต่อไปเพื่อทำความเข้าใจว่าแพทย์ควรได้รับการฝึกอบรมอย่างไรในการใช้เครื่องมือเหล่านี้