AI ค้นพบรูปแบบการเคลื่อนไหวทารก ทารกเรียนรู้การใช้ขาได้เป็นอวัยวะแรก เพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างแม่นยำ

ช่วงขวบวัยตั้งแต่ 0 - 3 ปีคือช่วงวัยที่ทารกมีพัฒนาการที่ไต่ระดับอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่บอบบางต่อแวดล้อม ทำให้การศึกษาของมนุษย์ต่อพัฒนาการในช่วงนี้ได้รับควมสนใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีเข้าไปในงานวิจัยเพื่อสำรวจช่วงเวลาดังกล่าวด้วย


อย่างงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริด้าแอตแลนติก พวกเขาเริ่มต้นจากการตั้งข้อสังเกตถึงช่วงที่ทารกมีการเปลี่ยนแปลงจากการเคลื่อนไหวแบบสุ่มไปสู่การกระทำที่มีจุดมุ่งหมาย เพราะในมุมของพวกเขา ระหว่างการเคลื่อนไหวในช่วงต้นของชีวิตที่อาจดูเหมือนยุ่งเหยิง แท้จริงแล้วอาจมีรูปแบบที่มีความหมายค่อยๆ ก่อตัวอยู่ก็ได้


โดยทีมวิจัยได้บรรยายว่าหลังจากการตั้งข้อสังเกตนั้น พวกเขาเริ่มต้นทบทวนองค์ความรู้ในอดีตก่อน จนไปเจอกับ “การทดลองโมบายล์สำหรับเด็ก (baby-mobile experiment)” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 โดยเป็นการศึกษาว่าทารกเริ่มกระทำด้วยจุดประสงค์ได้อย่างไร ผ่านใช้โมบายล์ที่มีสีสัถูกผูกติดกับเท้าของทารก ดังนั้นเมื่อทารกขยับ โมบายล์จะเคลื่อนไหว และเชื่อมโยงการกระทำของพวกเขากับสิ่งที่เห็นในสภาพแวดล้อม การออกแบบงานวิจัยนี้ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจว่าทารกควบคุมการเคลื่อนไหวและค้นพบความสามารถในการมีอิทธิพลต่อสิ่งรอบตัวได้อย่างไรบ้าง


ซึ่งจากการทดลองอายุกว่า 90 ปีนั้นเอง ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริด้าแอตแลนติกจึงได้นำมาดัดแปลงเพื่อหาคำตอบของตน โดยใช้เครื่องมือ AI ผสานกับโมบายล์เดิม เพื่อระบุการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนในรูปแบบการเคลื่อนไหวของทารก และจัดประเภทออกเป็นประเภทต่างๆ ตั้งแต่การกระทำตามธรรมชาติไปจนถึงการตอบสนองเมื่อโมบายล์เคลื่อนไหว จนนำมาซึ่งคำตอบที่น่าสนใจในที่สุด


ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า AI เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเข้าใจการพัฒนาและปฏิสัมพันธ์ของทารกในช่วงต้น โดยพบสาระสำคัญคือการเคลื่อนไหวของเท้ามีอัตราความถูกต้องสูงสุด ซึ่งแปลว่าเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รูปแบบการเคลื่อนไหวของเท้ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าท่ามกลางพัฒนาการการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ค่อยๆ เติบโต เท้าของทารกคือส่วนแรกที่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามจุดหมายนั่นเอง


อีกทั้งการศึกษานี้ ทีมวิจัยยังได้เสนอเพิ่มเติมด้วยว่าการทดลองใช้ AI ของพวกเขาให้ผลลัพธ์ด้านวิธีการศึกษาที่น่าพอใจมากๆ เนื่องจาก AI สามารถทำลายข้อจำกัดในการวัดในทารกได้ ดังที่ดร.แนนซี อารอน โจนส์ ผู้เขียนร่วมงานวิจัยและอาจารย์ในภาควิจัยจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยได้กล่าวสรุปไว้


“ผู้ใหญ่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำและอธิบายการกระทำของตนได้ ในขณะที่ทารกไม่สามารถทำเช่นนั้น ดังนั้นจุดนี้เองนี่คือจุดที่ AI สามารถเข้ามาช่วยเหลือ โดย AI จะช่วยนักวิจัยในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่ละเอียดอ่อนในเคลื่อนไหวของทารก แม้กระทั่งความนิ่ง เพื่อให้เราได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาคิดและเรียนรู้ก่อนที่จะสามารถพูดได้เสียอีก ดังนั้นเครื่องมือวิจัยนี้จึงน่าสนใจมากในการทำความเข้าใจความแปรผันอันหลากหลายที่เกิดขึ้นในขณะที่ทารกกำลังพัฒนา"