นักวิจัยร่วมสร้างสำเร็จ ใบไม้เทียมผลิตไฟฟ้าและออกซิเจน โดยอนาคตเราอาจชาร์จแบตมือถือกับใบไม้ได้ด้วย

จะดีไหมถ้ามนุษย์สามารถสร้างพืชเทียมได้ ที่ทำหน้าที่ได้เหมือนกับพืชทุกประการ?


ประโยคข้างต้น ถ้าพูดเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ล่าสุดดูเหมือนจะใกล้ตัวเรามากขึ้นไปทุกทีแล้ว เพราะล่าสุดมีศาสตราจารย์ Seokheun “Sean” Choi และนักศึกษาปริญญาเอก Maryam Rezaie จากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตันได้พัฒนา "พืชเทียม" รูปแบบใหม่ขึ้น โดยแถมคุณสมบัติสุดพิเศษคือพืชเทียมชนิดนี้ “สร้างไฟฟ้าได้”


โดยจุดเริ่มต้นของพืชเทียมดังกล่าว เกิดจากการศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แบคทีเรียในการพัฒนาแบตเตอรี่ชีวภาพก่อน ก่อนเกิดกลายเป็นแนวคิดใหม่สำหรับพืชเทียมที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นแหล่งอาหาร สามารถปล่อยออกซิเจน (O2) และสร้างพลังงานเล็กน้อย


ใบพืชเทียมนี้ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ทางชีวภาพจำนวน 5 เซลล์ ร่วมกับแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสังเคราะห์แสงได้ โดยทีมวิจัยทำการทดสอบอัตราการดักจับ CO2, การผลิต O2 และการสร้างพลังงานจนพวกเขาได้พบว่าใบพืชเทียมมีคุณสมบัติดังกล่าวจริง โดยสร้างพลังงานได้ประมาณ 140 ไมโครวัตต์ต่อใบ ซึ่งทีมิวัจยมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้สามารถสร้างพลังงานได้ถึง 1 มิลลิวัตต์เลยทีเดียว


โดยถ้าสามารถทำได้ ทีมวิจัยได้ระบุว่าพวกเขาตั้งใจที่จะนำพลังงานไปประยุกต์ใช้ในฐานะแบตเตอรี่เพื่อชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือได้ กล่าวคือต่อจากนี้ เราอาจมีต้นไม้เทียมที่อยู่นอกบ้านที่สามารถชาร์จมือถือได้นั่นเอง


ส่วนในหน้าที่ของการลดระดับ CO2 และผลิต O2 พวกเขาพบว่าถ้านำใบพืชเทียมไปใช้ในอาคารในปัจจุบัน บพืชเทียมสามารถลดระดับ CO2 ภายในอาคารได้ถึง 90% กล่าวคือจาก 5000 ppm ลดลงไปจนกลายเป็น 500 ppm ซึ่งเป็นการลดที่มากกว่าที่พืชธรรมชาติสามารถทำได้เสียอีก นอกจากนี้ยังผลิต O2 และพลังงานชีวภาพที่เพียงพอสำหรับจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาอย่างที่กล่าวไปแล้วด้วย


โดยในตอนท้ายงานวิจัย ผู้วิจัยได้ระบุว่าแผนงานทั้งหมดนี้กำลังเดินทางไปสู่ความเป็นจริงมากขึ้น ดังนั้นไม่แน่นะ ในอนาคตเราอาจมีต้นไม้ที่ชาร์จรถไฟฟ้าได้ก็ได้ ใครจะรู้