แมมมอธถือเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ “เคยมีตัวตน” บนโลกและได้รับการพูดถึงมากที่สุดสายพันธ์ุหนึ่ง ซึ่งนั่นเองที่ทำให้มีหลายการศึกษาเกิดขึ้นเพื่อพยายามหาคำตอบว่าทำไมสัตว์ขนาดใหญ่ยักษ์อย่างแมมมอธที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งถึงสูญพันธ์ุไปได้ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา คำตอบทางวิชาการมักชี้ไปที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่ล่าสุดนั้นมีการเสนออีกหนึ่งทฤษฎีที่น่าสนใจไม่แพ้กันแล้ว
เพราะในบทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth History and Biodiversity นักวิจัยได้รายงานว่า “กลไกหนึ่งที่อาจส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์อย่างแมมมอธขนยาวในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจเกิดจากการสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นเนื่องจากเกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น จากพืชพรรณใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง”
ทำความเข้าใจกันก่อน ว่าแมมมอธขนยาว (Mammuthus primigenius) มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคเพลิโอสโตซีน (Pleistocene epoch) คือเริ่มตั้งแต่ 2.6 ล้านปีก่อน ถึง 11,700 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากหลักฐานงานวิจัยก่อนหน้า นักวิจัยเชื่อว่าการผสมพันธุ์กันในสายเลือด การล่าของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณคือส่วนสำคัญที่ทำให้แมมมอธขนยาวสูญพันธุ์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการถกเถียงว่าปัจจัยใดที่มีผลกระทบมากกว่ากัน
ซึ่งข้อถกเถียงนั้นเองที่ทำให้เกิดการนำเสนอล่าสุดจากนักวิจัยกลุ่มดังกล่าว ว่า “ภูมิแพ้จากละอองต้นไม้” น่าจะมีส่วนรบกวนฟังก์ชันที่สำคัญหลายอย่างในชีวิตของแมมมอธขนยาว โดยหลักๆ คือการรับกลิ่นที่พวกมันใช้เพื่อหาอาหาร หาคู่ครอง นำทางในการอพยพ และหลบหนีจากผู้ล่า ดังนั้นการที่แมมมอธขนยาว “จมูกตัน” อาจทำให้ชีวิตของพวกมันตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตน้อยลง
โดยหนึ่งในวิธีการตรวจสอบว่าแมมมอธประสบปัญหาภูมิแพ้หรือไม่ นักวิจัยได้ทำการตรวจสอบเนื้อในกระเพาะอาหารของฟอซซิลแมมมอธมว่ามีพืชหรือฝุ่นละอองที่สามารถกระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้หรือเปล่า นั่นเองที่ทำให้ผู้วิจัยได้ค้นพบว่าในบางซากศพของแมมมอธมีฝุ่นละอองฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ตรวจสอบ DNA ของแมมมอธขนยาวจนได้พบด้วยว่าในช่วงท้ายๆ ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธ์ุ พวกมันไม่สามารถได้กลิ่นของพืชพันธุ์หรือดอกไม้บางประเภท ทำให้ในท้ายที่สุดพวกเขาจึงสรุปว่าเหตุผลนี้เอง ที่น่าจะเป็นเหตุผลหลักให้แมมมอธขนยาวสูญพันธ์ุในที่สุด
จริงอยู่ที่งานวิจัยนี้ทำให้หลายคนสนใจ แต่ในอีกมุม นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็ได้แสดงความไม่เชื่อมั่นไว้เช่นกัน เช่น Vincent Lynch นักชีววิทยาวิวัฒนาการและผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลในรัฐนิวยอร์ก ที่ได้กล่าวว่าแนวคิดนี้ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะเขาไม่แน่ใจว่างานวิจัยสามารถพิสูจน์สมมติฐานได้อย่างไร ดังนั้นจนกว่าข้อเสนอของผู้วิจัยจะถูกทดสอบในเชิงทดลองและได้รับการสนับสนุนจากการวิจัยเพิ่มเติม Lynch จึงยังคงขอเชื่อว่าการสูญพันธุ์ของแมมมอธเกิดจากการรวมกันของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากมนุษย์มากกว่า