Shoe Fitting Fluoroscope ไม่รู้ไซส์ก็ยิงรังสีวัดไปเลยสิคะ! นวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์เพื่อหาขนาดรองเท้าที่เหมาะสม

Shoe Fitting Fluoroscope
ไม่รู้ไซส์ก็ยิงรังสีวัดไปเลยสิคะ! 
นวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์เพื่อหาขนาดรองเท้าที่เหมาะสม
______


คุณเคยประสบปัญหากับการเลือกไซส์รองเท้าให้พอดีหรือไม่ ?

⠀⠀⠀โดยเฉพาะเมื่อต้องซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ที่เราไม่มีโอกาสได้ลองด้วยตัวเอง ไหนจะตัวเลือกของหน่วยวัดที่ก็มีเยอะเสียจนสับสน ทั้งวัดเป็นนิ้ว วัดเป็นเซนติเมตร ทั้งระบบวัดแบบ UK, US, EUR หรือ JP ไม่พอยังแยกย่อยไปเป็นไซส์ผู้หญิง ไซส์ผู้ชายอีก โอ๊ยปวดหัว! 

⠀⠀⠀ไม่ใช่แค่พวกเราเท่านั้นที่ประสบปัญหาชวนไมเกรนขึ้นนี้ ผู้คนในอดีตก็เช่นกัน แต่ต้องบอกเลยว่าวิธีแก้ปัญหาของคนในสมัยนั้นล้ำหน้าเสียจนต้องร้องว้าวดัง ๆ ไม่มีการมาวาดเท้าบนกระดาษแล้ววัดความยาวอย่างที่เรา ๆ ทำกันแน่นอน เพราะคนในยุค 1920 เขาใช้เครื่องเอกซเรย์เท้าเพื่อวัดขนาดหารองเท้าที่เหมาะสมกับสรีระกันไปเลยน่ะสิ! 


⠀⠀⠀เครื่องเอกซเรย์ที่ว่านี้ มีชื่อว่า ‘Shoe Fitting Fluoroscope’ มีลักษณะเป็นตู้ขนาดเท่าเครื่องฟอกอากาศในปัจจุบัน โครงภายนอกทำจากไม้ มีช่องสำหรับสอดเท้า ภายในบรรจุหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่สามารถยิงรังสีเอกซ์เพื่อสแกนขนาดของเท้า มีช่องด้านบนสำหรับส่องดูผลลัพธ์ 

โดยหลักการทำงานของเจ้า Shoe Fitting Fluoroscope จะคล้ายกับเครื่องสแกนสัมภาระในสนามบิน นั่นคือให้เราสอดเท้าเข้าไปในเครื่องพร้อมรองเท้าที่สวมใส่อยู่ ตัวเครื่องก็จะทำการเอกซเรย์แสดงลักษณะสรีระและกระดูกเท้าของเรา ให้พอเห็นคร่าว ๆ ว่ารองเท้าที่เราสวมอยู่นั้นพอดีกับรูปทรงของเท้าเราหรือไม่ 

ซึ่งโดยมากการเอกซเรย์เท้าเช่นนี้ มักใช้เป็นข้อมูลควบคู่ไปกับการชั่งน้ำหนักเพื่อวัดการถ่ายเทน้ำหนักของฝ่าเท้า และจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยอ่านค่าวิเคราะห์ผลเพื่อให้คำแนะนำในการเลือกสรรรองเท้าอีกที ประโยชน์ของมันจึงไม่ใช่การแค่หาขนาดรองเท้าที่พอดีได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหารองเท้าที่เหมาะกับสรีระเท้าเพื่อให้ได้การสวมใส่เคลื่อนไหวที่สบายที่สุด

และหากถามถึงที่มาของนวัตกรรมนี้ ก็ต้องย้อนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เดิมเป็นอุปกรณ์ที่นายแพทย์ชื่อ Jacob Lowe คิดค้นและออกแบบเพื่อใช้สำหรับตรวจเท้าของทหารที่ได้รับบาดเจ็บโดยไม่ต้องถอดรองเท้าออก ทำให้กระบวนการรักษาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ต่อมาคุณหมอ Lowe หัวใส ได้ทำการดัดแปลงและจดสิทธิบัตรให้กับนวัตกรรมดังกล่าว ให้สามารถนำออกไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทำให้เจ้าเครื่องเอกซเรย์เท้านี้โด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นที่นิยมชนิดที่ร้านรองเท้าในยุค 1920 – 1950 แทบทุกแห่งต้องมีติดไว้สักเครื่องสองเครื่องเลยทีเดียว 


แต่ถ้ามันเลิศสะแมนแตนขนาดนั้น ทำไมมันถึงเลิกใช้ไปล่ะ?

⠀⠀⠀เหตุผลหลักก็มีที่มาจากผลพวงของสงครามอีกเช่นกัน เพราะเมื่อราวปี 1940 หลังเกิดเหตุทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ นักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักถึงผลเสียของสารตกค้างจากรังสี ส่งผลให้อะไรก็ตามที่มีส่วนประกอบหรือเป็นต้นกำเนิดของรังสีถูกกำกับให้ต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง

แม้ไม่ใช่การห้ามอย่างเด็ดขาด แต่การถูกแปะป้ายว่าอันตรายเช่นนี้ ก็ส่งผลให้เกิดความกังวลใจในการใช้งาน ทำให้เจ้าเครื่อง Shoe Fitting Fluoroscope ถูกลดความนิยมลงเรื่อย ๆ ก่อนจะถูกปิดประตูตายในปลายปี 1950 จากการมีรายงานที่ออกมาให้ข้อมูลอย่างแน่ชัดว่ากว่า 75% ของเครื่องเอกซเรย์เท้าในท้องตลาด มีปริมาณรังสีในระดับที่อันตรายเกินกว่าจะใช้งานโดยปราศจากการกำกับดูแลโดยแพทย์ ทำให้ร้านรองเท้าทั้งหลายค่อย ๆ ยกเก็บ Shoe Fitting Fluoroscope เข้ากรุไปจนกลายเป็นถูกเลิกใช้โดยสมบูรณ์


⠀⠀⠀ถึงตำนานเครื่องเอกซเรย์เท้าจะจบลง แต่ความเก่งกาจของมนุษย์เราก็ไม่ได้จบลงตาม ปัจจุบันเราจึงได้เห็นเทคโนโลยีการวัดขนาดเท้าที่ปลอดภัยและแม่นยำสูงอีกมาก อาทิ เครื่องสแกน 3 มิติ หรือการวัดด้วยเครื่องดิจิทัล

 

แต่สำหรับชาวบ้านอย่างเรา ๆ คงต้องกลับไปที่วิธีดั่งเดิมอย่างการวาดบนกระดาษแล้ววัดเอาล่ะน่ะ ฮ่า

 

________


ติดตามบทความอื่นๆ ของ STeP ได้ที่ : ARTICEL

#CMUSTeP #STeP #ณWHATตะกรรม #ShoeFittingFluoroscope #Fluoroscope #เครื่องเอกซเรย์เท้า