หาคำตอบผ่านหลักฟิสิกส์ ทำไม The Starry Night ถึงงดงาม ผ่านนักบรรยากาศศาสตร์ที่วัดการลงสี

ต่อให้ไม่ได้สนใจวงการศิลปะ เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักภาพวาด The Starry Night ของศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับ Vincent van Gogh กันอยู่บ้าง โดยภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นท้องฟ้าสีฟ้าที่หมุนวน พร้อมด้วยดวงจันทร์และดวงดาวสีเหลือง ท้องฟ้าในภาพเป็นการระเบิดของสีสันและรูปทรง โดยแต่ละดวงดาวทอดกายอยู่ในระลอกคลื่น เปล่งประกายเหมือนการสะท้อนบนพื้นน้ำ


การลงสีของแวนโก๊ะในผลงานขึ้นหิ้งนี้ สร้างภาพการเคลื่อนไหวของท้องฟ้าที่ทำให้ทุกคนหลงไหลและต้องมนต์ทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวเหล่านั้นก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศสงสัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างในภาพกับฟิสิกส์บนท้องฟ้าจริง ผ่านข้อสังเกตที่นำมาซึ่งงานวิจัยว่าถึงการเคลื่อนไหวของบรรยากาศในภาพไม่สามารถวัดได้ แต่ในเมื่อการลงสีสามารถวัดได้ ก็ขอลองหาคำตอบดูเสียหน่อย


นั่นเองที่ทำให้เกิดบทความที่ตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในวารสาร Physics of Fluids โดยนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและพลศาสตร์ของของไหลจากประเทศจีนและฝรั่งเศส ที่ได้วิเคราะห์ภาพวาดของแวนโก๊ะตามหลักฟิสิกส์และบรรยากาศศาสตร์เพื่อค้นหาสิ่งที่เรียกว่า "ความปั่นป่วนที่ซ่อนอยู่" ในท้องฟ้าอันงดงามตามภาพ


โดย Yongxiang Huang หนึ่งในนักเขียนบทความกล่าวว่า “ขนาดของแปรงลงสีมีบทบาทสำคัญ” อย่างมากในคำตอบนั้น เพราะด้วยการใช้ภาพดิจิทัลความละเอียดสูง นักวิจัยสามารถวัดขนาดเฉลี่ยของการแปรงสีได้อย่างแม่นยำ บวกกับการทดลองศึกษา ที่นักวิจัยได้ลองใช้การลงสีแบบในภาพให้เหมือนใบไม้ที่หมุนในลมเพื่อตรวจสอบรูปร่าง พลังงาน และการจัดระดับของสภาวะบรรยากาศที่ไม่สามารถมองเห็นได้ โดยใช้ความสว่างสัมพัทธ์ของสีที่แตกต่างกันเป็นตัวแทนของพลังงานการเคลื่อนไหว


“จากการทดลองทั้งหมด ผลการศึกษาบอกเราว่าท้องฟ้าดังกล่าวมีหลักการเคลื่อนไหวเหมือนกับท้องฟ้าจริงอย่างน่ามหัศจรรย์ มันแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจลึกซึ้งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของแวนโก๊ะจริงๆ” Huang กล่าวเสริม อีกทั้งผลการศึกษาที่ได้ ยังแสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่าภาพวาดท้องฟ้าของแวนโก๊ะนั้นตรงกับกฎของ Kolmogorov ซึ่งคาดการณ์การเคลื่อนไหวและขนาดของบรรยากาศตามพลังงานเฉื่อยได้เพิ่มเติมอีกด้วย


ด้วยเหตุนี้เอง ถ้ามองจากแว่นบรรยากาศศาสตร์และหลักฟิสิกส์ ภาพดังกล่าวจึงเข้าขั้นยอดเยี่ยมอยู่ดี โดยเหล่านักวิจัยยังแสดงความเห็นในตอนท้ายด้วยว่ามีความเป็นไปได้ ที่แวนโก๊ะอาจศึกษาหรือเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของเมฆและธรรมชาติโดยรอบจนช่ำชอง จนเป็นต้นทางที่นำมาสู่ภาพวาด The Starry Night นี้นั่นเอง