นวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์ เปลี่ยนน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำดื่ม เป็นมิตรต่อโลก แถมประสิทธิภาพดีขึ้นถึง 5 เท่า

ไม่ต้องอธิบายให้มากความ แต่ถ้ามีนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำดื่มได้โดยใช้ต้นทุนน้อยและยั่งยืนต่อโลก เชื่อเหลือเกินว่านวัตกรรมนั้นต้องเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกแน่ๆ


ซึ่งดูเหมือนความฝันนั้นมีโอกาสที่ใกล้เคียงความจริงมากขึ้นแล้ว เพราะล่าสุดงานวิจัยโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลูได้ออกมาบอกเล่าว่าพวกเขาได้ออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานน้อยมากๆ สำหรับผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเล โดยอาศัยกระบวนการระเหยที่ใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นหลัก


โดยงานวิจัยได้อธิบายว่า การทำให้เค็มกลายเป็นน้ำจืดเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งน้ำจืด เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเติบโตของประชากรและการบริโภคน้ำที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผลิตน้ำจืดนี้


ระบบการเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำดื่มในปัจจุบัน มักจะใช้ปั๊มในการนำน้ำทะเลมาผ่านเยื่อกรองเพื่อแยกความเค็มออกจากน้ำ แต่กระบวนการนี้ใช้พลังงานสูงและเกลือมักจะสะสมอยู่บนพื้นผิวของอุปกรณ์ ทำให้การไหลของน้ำลดลงและประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง ผลลัพธ์คือระบบเหล่านี้ต้องการการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นเองคือโจทย์ที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลูพยายามแก้ จนได้มาค้นพบแรงบันดาลใจจากกระบวนการทางธรรมชาติและนำมาสู่นวัตกรรมที่นำเสนอในที่สุด


ดร.ไมเคิล แทม ศาสตราจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคมีของวอเตอร์ลู บรรยายถึงนวัตกรรมใหม่นี้ไว้ว่า “ระบบที่เราออกแบบมา หลังจากปั๊มน้ำทะเลมาสู่นวัตกรรมของเราแล้ว เครื่องจะทำการกระตุ้นให้น้ำระเหย เหลือเพียงเกลือที่จะเคลื่อนที่ไปยังด้านล่างของอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการอุดตันของน้ำและทำให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนน้ำที่ระเหยก็จะไปสู่อีกพื้นผิวและกลั่นตัวกลับลงมาเป็นน้ำที่ปราศจากเกลือในวงจรปิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสะสมของเกลือที่ลดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ อันเป็นการแก้ปัญหาของเทคโนโลยีเดิมได้นั่นเอง”


โดยจุดสำคัญมากๆ ที่ทำให้อุปกรณ์นี้โดดเด่น คือการทำให้น้ำระเหยนั้นใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก ทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่าเดิม แต่แลกมากับประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบบการขจัดความเค็มในปัจจุบันถึง 5 เท่า นอกจากนี้ยังสามารถผลิตน้ำจืดได้ประมาณ 20 ลิตรต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละคนต้องการในแต่ละวันสำหรับการดื่มและการดูแลสุขอนามัยพื้นฐาน


ในปัจจุบัน นวัตกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จในห้องทดลองแล้ว ทีมผู้วิจัยจึงมีแผนที่จะขยายไปลองใช้จริงต่อไป ซึ่งเราคงต้องมารอลุ้นกันนะ ว่านวัตกรรมนี้จะประสบความสำเร็จในการใช้งานจริงหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นไปในทางที่บวก จะบอกว่านี่คือนวัตกรรมเปลี่ยนโลกก็ควงไม่เกินไปนัก