นวัตกรรมหุ่นยนต์ใหม่ เชื้อราควบคุมหุ่นยนต์ เพิ่มการตอบสนองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

การสร้างหุ่นยนต์ต้องใช้เวลาและทักษะทางเทคนิค รวมถึงวัสดุที่เหมาะสม และในบางครั้ง อาจมีการใช้ ‘เชื้อรา’ ด้วย!?


เพราะล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ออกมาบอกว่าพวกเขากำลังพัฒนาหุ่นยนต์ไบโอไฮบริด โดยใช้เส้นใยเชื้อราหรือไมซีเลียที่พบตามพื้นป่าเป็นส่วนประกอบ โดยมุ่งหวังให้เส้นใยเชื้อรานี้ช่วยให้หุ่นยนต์ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าหุ่นยนต์ที่ใช้วัสดุสังเคราะห์เพียงอย่างเดียว ผ่านการใช้สัญญาณไฟฟ้าจากไมซีเลียเป็นการควบคุม


บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Robotics โดยมี Anand Mishra เป็นผู้นำทีมวิจัย และ Rob Shepherd ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและการบินและอวกาศที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลมาร่วมให้ความเห็น


“นี่เป็นรายงานฉบับแรกในหลายฉบับที่นำเสนอการใช้เชื้อราในการตรวจจับสภาพแวดล้อมและส่งสัญญาณคำสั่งไปยังหุ่นยนต์ เพื่อปรับปรุงการทำงาน” Shepherd กล่าว


“ด้วยการปลูกไมซีเลียให้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในหุ่นยนต์ เราสามารถทำให้หุ่นยนต์ไบโอไฮบริดสามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยในการทดลองนี้ เราใช้แสงเป็นสัญญาณนำเข้าให้ไมซีเลียรับรู้ แต่ในอนาคตเราอาจลองใช้เป็นสารเคมี ซึ่งอาจช่วยให้หุ่นยนต์สามารถประเมินเคมีในดินและตัดสินใจ ว่าเมื่อใดที่ควรใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”


เนื่องจากไมซีเลียเป็นส่วนประกอบใต้ดินของเห็ด ซึ่งมีความสามารถในการรับรู้และตอบสนองต่อสัญญาณทางเคมีและชีวภาพต่างๆ ดังนั้นในมุมของทีมวิจัย ความเป็นไปได้นี้จึงไม่ไกลเกินเอื้อมเลย


“เพราะระบบสิ่งมีชีวิตตอบสนองต่อการสัมผัส แสง และความร้อน รวมถึงตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่รู้ เช่น สัญญาณที่ไม่คุ้นเคย” Mishra กล่าวเสริม

“ดังนั้นเพื่อให้หุ่นยนต์ในอนาคตสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนได้ เราควรใช้ระบบที่มีชีวิตเหล่านี้ เพราะหากมีข้อมูลใหม่เข้ามา หุ่นยนต์จะได้สามารถตอบสนองต่อมันได้ กล่าวคือหลังจากนี้แม้ว่าในสภาพแวดล้อมแบบไหน การผสานกันของสิ่งมีชีวิตและหุ่นยนต์อาจเป็นคำตอบที่ทำให้หุ่นยนต์ปรับตัวได้อย่างไม่หยุดยั้ง”