มนุษย์ดูเหมือนจะเชื่อใจ AI มากขึ้น ใช่, นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ต่อให้ไม่ได้ใกล้ชิดกับ AI เราเชื่อว่าทุกคนน่าจะสังเกตได้ แต่เชื่อใจแค่ไหน? ดูเหมือนงานวิจัยล่าสุด กำลังบอกเราว่าความเชื่อมั่นที่ว่ามันมากกว่าใครหลายคนคิด
เพราะในงานวิจัยที่จัดทำขึ้นที่มหาวิทยาลัย UC Merced มีการศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจในสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตหรือความตาย โดยผลการทดลองนั้นชวนประหลาดใจมาก เพราะมีผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบสองในสามของกลุ่มตัวอย่างที่อนุญาตและเชื่อใจให้ AI ตัดสินใจแทนตน หรือเลือกเชื่อ AI แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ขัดกับความเชื่อก่อนหน้าของพวกเอง
ผลการทดลองนี้บอกอะไร? ผู้วิจัยได้บรรยายว่ามันอาจสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจในปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มากเกินไป โดยนักวิจัยได้เตือนถึงความเสี่ยงของการมีความเชื่อมั่นใน AI อย่างไม่มีเหตุผลนี้ เช่นที่ศาสตราจารย์ Colin Holbrook ผู้เป็นนักวิจัยหลักของการศึกษาและเป็นสมาชิกของภาควิชาจิตวิทยาและวิทยาการข้อมูลที่ UC Merced ได้กล่าวว่าด้วยการพัฒนา AI ที่รวดเร็วในปัจจุบัน เราควรกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการมีความเชื่อมั่นใน AI ที่มากเกินไปขนาดนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตหรือความตาย
Holbrook ได้แนะนำว่าการนำ AI ไปใช้ แท้จริงแล้วควรมีความสงสัยต่อสิ่งที่ AI ตอบรับอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งถึงแม้ในงานวิจัย สถานการณ์ที่ยกให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางทหาร แต่ Holbrook ได้เน้นย้ำว่ามันสามารถอนุมานถึงการนำไปใช้กับบริบทอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ตำรวจที่ได้รับอิทธิพลจาก AI อาจมีผลต่อการพิจารณใช้กำลังต่อผู้ต้องสงสัย หรือการตัดสินใจของแพทย์ฉุกเฉินในการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น
จากเหตุนี้เอง ทำให้ในตอนสุดท้ายของการศึกษา ผู้วิจัยจึงได้เสนอว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ในอนาคต มนุษย์ควรหันมาวิเคราะห์ความไว้วางใจต่อ AI มากกว่านี้ เพราะถ้าปล่อยไปแล้วไม่หยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เราให้ AI มีอำนาจในการดำเนินชีวิต เราอาจเผลไม่ระมัดระวังและหลงคิดไปว่า AI จะมีประสิทธิภาพในทุก ๆ ด้าน ทั้งที่ในความเป็นจริง หลายๆ การตัดสินใจของมนุษย์นั้นทำให้ผลลัพธ์ออกมาได้ดีกว่า AI หลายเท่า