ประโยคสั้น ๆ แต่เปี่ยมด้วยพลังในการขับเคลื่อนที่ช่วยยืนยันสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นไปได้ และไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว
⠀⠀⠀ประโยคที่ว่านี้ เราได้จากการพูดคุยกับ ทีมกลยุทธ์ การริเริ่ม และการปรับเปลี่ยนองค์กร (Strategy, Initiative and Transformation) หรือทีม SIT ผู้รับหน้าที่ออกแบบและวางกลยุทธ์ในการพัฒนาการทำงานของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และเป็นก้าวแรกเสมอ ของการเปลี่ยนแปลงในองค์กร
⠀⠀⠀วันนี้ เราจึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักงานของ ทีม SIT หรือที่เรียกกันด้วยชื่อเล่นว่า ‘ทีมกลยุทธ์’ ให้ดีขึ้นอีกสักนิด ในฐานะอีกหนึ่งกลุ่มคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนของ STeP
⠀⠀⠀‘การไม่หยุดอยู่กับที่’ ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญขององค์กรยุคใหม่ โดยเฉพาะในหน่วยงานอย่าง STeP ซึ่งมีขอบเขตงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ธุรกิจ และการสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เราจึงต้องคอยผลักดันตัวเองให้พัฒนาไปข้างหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้คงการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดไว้ได้อย่างต่อเนื่อง
แต่การจะพัฒนาในภาพใหญ่ขององค์กรนั้น จำเป็นต้องมีเป้าหมาย การกำหนดทิศทาง และแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ทำให้ทีม SIT ต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์-สังเคราะห์ และวางแผน เพื่อให้ได้มาซึ่งกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กรในด้านต่าง ๆ
“ทรัพยากรที่สำคัญขององค์กรเราคือ ‘คน’ การพัฒนาคนเท่ากับการพัฒนาองค์กร”
⠀⠀⠀กลยุทธ์ของทีม SIT จึงเป็นการมุ่งไปที่การวางแผนเพื่อพัฒนาบุคลากรเป็นหลัก โดยมักตั้งต้นจากการสังเกตเห็นปัญหาหรือความต้องการในการทำงานของแต่ละทีม จากนั้นจึงนำมาสังเคราะห์เพื่อสร้างเป็นแผนกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับเข้าไปอุดช่องว่างเหล่านั้น ซึ่งเป็นได้ทั้งการเสริมองค์ความรู้ การเพิ่มทักษะ การมองหาเครื่องมือหรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาดีขึ้น โดยหนึ่งในความท้าทาย คือการต้องจัดการกับปัญหาและความต้องการในการทำงานของแต่ละทีมที่แตกต่างกัน และการทำอย่างไรให้พวกเขาโอบรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
⠀⠀⠀‘การพัฒนา’ ในบางครั้งอาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ แต่ใช่ว่าทุกการเปลี่ยนแปลงจะทำได้โดยง่าย
ทีม SIT เข้าใจเงื่อนไขข้อนี้ดี จากการจัดกิจกรรม ‘Hackathon’ ซึ่งเป็นการรวบรวมตัวแทนบุคลากรจากแต่ละทีมของ STeP เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่พบเจอในการทำงานร่วมกัน จากนั้นจึงนำโจทย์ที่ได้ มาหาแนวทางการแก้ไขพัฒนาให้ระบบการทำงานดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้แนวทางมาแล้ว ในบางครั้งก็ยังยากเกินไปสำหรับแต่ละทีมในการนำไปปรับใช้ ทีม SIT จึงเลือกเป็น ‘ผู้เริ่ม’ ลงมือทำก่อน โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหรือนักพัฒนาระบบต่าง ๆ ทั้งการศึกษาค้นคว้าข้อมูล การทดลองใช้เครื่องมือ ไปจนถึงการวางระบบต้นแบบ (Prototype) ที่สามารถรันกระบวนการได้ จากนั้นจึงส่งไม้ต่อไปยังทีมเจ้าของโจทย์ให้นำไปใช้ในการดำเนินงานจริง ด้วยเจตนารมณ์ที่อยากผลักดันให้แผนการพัฒนาสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทำให้ทุกคนไม่กลัวที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
“เราเชื่อว่าพนักงานของเรามีศักยภาพมากกว่าที่แสดงออก เราจึงพยายามเอื้อทุกอย่างให้เขาสามารถดึงศักยภาพตัวเองออกมา อยากให้ทุกการเข้าประชุมเกิดความรู้สึกที่ว่า ‘เราทำได้สิ’”
⠀⠀⠀หนึ่งในการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ของ STeP คือการปรับโครงสร้างมาใช้แนวคิดการทำงานแบบ ‘Agile’ ซึ่งแบ่งจาก 8 ทีม เป็น 22 ทีม ตามโฟกัสของงาน เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานส่วนใหญ่ที่มีลักษณะเป็น Project-based (งานรูปแบบโครงการ) โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปรับเปลี่ยนครั้งนี้คือทีม SIT ซึ่งปัจจุบันยังคงสานต่อการให้ความรู้เรื่องแนวคิด Agile และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าง Scrum อย่างต่อเนื่อง ทั้งแก่บุคลากรใน STeP และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อผลักดันให้องค์กรสามารถทำงานด้วยระบบ Agile อย่างเต็มรูป ไปพร้อม ๆ กับการกระจายองค์ความรู้ไปยังองค์กรใกล้เคียงเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนเองได้
นอกจากนี้ทีม SIT ยังเป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็น Digital Transformation ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างการทำงานภายในองค์กรผ่านการนำและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ช่วยลดความซับซ้อนของขั้นตอนการทำงาน เพิ่มความคล่องตัวให้ระบบเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะในฝั่งของการเงินและการจัดซื้อจัดจ้าง
⠀⠀⠀แผนการพัฒนา STeP ของทีม SIT ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผลลัพธ์ผ่านการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของทีมอื่น ๆ ภายในองค์กร รวมถึงเมล็ดพันธุ์ของการพร้อมจะเป็นผู้เริ่มการเปลี่ยนแปลงให้กับทุกคน
⠀⠀⠀ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการที่อยากพัฒนาสินค้า แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง นักวิจัยที่อยากจดสิทธิบัตรผลงาน แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เจ้าของกิจการที่อยากขยายธุรกิจ แต่ไม่รู้จะเริ่มปรึกษาใคร สามารถติดต่อบอกความต้องการของคุณได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของ CMU STeP หรือเดินทางมาหาเราโดยตรงได้ที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
_______
ทำความรู้จักทีมอื่น ๆ จาก STeP ได้ที่: Know What We Do
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #knowWhatWeDo #SIT#Strategy #กลยุทธ์องค์กร