ด้วยอาชีพแล้ว Stephen Wolfram คือนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักคณิตศาสตร์ชื่อดัง แต่ด้วยความที่เขาเติบโตมาในบ้านที่มีแม่เป็นนักปรัชญา เขาจึงเห็นความสำคัญของศาสตร์ที่ชวนให้มนุษย์คิดลึกซึ้งถึงสิ่งต่างๆ และยังเห็นประโยชน์ด้วยว่า ท่ามกลางการพัฒนาไปของ AI ถ้ามีนักปรัชญาไปขนาบข้างก็น่าจะเป็นการดี
โดยไอเดียนี้เกิดขึ้นในการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดของเขานั่นเอง ว่าด้วยงานของตนเองที่ทำให้เห็นการเติบโตของ AI อย่างใกล้ชิด วูลแฟรมลงความเห็นว่าเทคโนโลยีเริ่มเรียกร้องรูปแบบการคิดที่ซับซ้อนและลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ และมันไม่ใช่การคิดเชิงเหตุผลแบบคอมพิวเตอร์อีกแล้ว แต่เป็นการคิดเชิงปรัชญา ที่ท้าทายปัญญาประดิษฐ์มากกว่าเดิม
“ง่ายๆ อย่างการที่เหล่าพัฒนาต่างพูดว่า ‘เรามาทำให้ AI เป็นสิ่งที่ถูกต้องกันเถอะ’ คำถามคือถูกต้องที่ว่านี้คืออะไรล่ะ ใครคือความถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง และความถูกต้องที่ว่า คุณอยากให้มันนำพาไปสู่อะไร เหล่านี้คือแบบฝึกหัดเชิงปรัชญาทั้งนั้น ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้คิดถึงแนวคิดเชิงปรัชญาสำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เลย แล้วสุดท้ายสิ่งที่คุณสร้างออกมาได้จะออกมาแบบไหน ผมไม่อยากจะจินตนาการถึง” วูลแฟรมให้ความเห็น
โดยวูลแฟรมยังอธิบายต่อไปด้วยว่าจากการที่เขาได้พูดคุยกับบริษัทผู้พัฒนา AI หลายที่ ปัญญาประดิษฐ์หลายตัวในปัจจุบันเข้าขั้น ‘สยดสยอง’ เนื่องจากการปลูกฝังวิธีคิดที่ปราศจากความลึกซึ้ง ทั้งที่ในช่วงเวลานี้ ในความคิดของวูลแฟรมหลายคำถามที่ยังแก้ไม่ได้ของ AI อาจแก้ได้ด้วยการดึงนักปรัชญาเข้าไปในขั้นตอนการพัฒนาด้วยซ้ำ
“ยกตัวอย่างเช่นปัจจุบันเราอาจไม่ต้องกลัวคำว่า ‘AI ครองโลก’ ก็ได้นะ แต่เราน่ามาตั้งคำถามและใช้ความคิดกัน ว่าถ้า AI ครองโลกขึ้นมาจริงๆ แล้วมนุษย์อย่างเราอยากให้ AI ทำอย่างไร เราคิดเห็นอย่างไรได้ต่อปรากฏการณ์นั้น หรือแม้กระทั่งคำถามอย่างปรัชญาการเมืองจะเปลี่ยนไปเนื่องจาก AI หรือเปล่า สำหรับผมแล้ว เหล่านี้ต่างหากที่น่ามาถกเถียงกัน” วูลแฟรมทิ้งท้าย
แล้วคุณล่ะ คิดว่าถ้ามีนักปรัชญาไปร่วมด้วย AI จะออกมามีวิธีคิดแบบไหน