นักวิจัยเสนอวิธีการ เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้ผู้สูงอายุ ให้สามารถเรียนเรื่องใหม่ๆ ได้เหมือนสมัยหนุ่มสาว

ถ้าพูดถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในผู้สูงอายุ ตามความเข้าใจของคนทั่วไป เรื่องนี้ดูจะทำได้น้อยกว่าวัยหนุ่มสาว หรือต่อให้เป็นความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้นี้ก็เป็นข้อเท็จจริงเช่นกัน เนื่องจากความยืดหยุ่นของสมองที่ลดน้อยลงตามอายุ ทำให้ความสามารถในการปรับตัวและสร้างการเชื่อมต่อต่อสิ่งใหม่ๆ นั้นน้อยลง


แต่นักวิจัยจากสถาบัน Max Planck นำโดย Daniela Vallentin ได้ทำการศึกษาเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการฟื้นฟูความสามารถในการเรียนรู้ของสมองในผู้สูงอายุ โดยพวกเขาลองทดลองสมมติฐานกับนกซีบร้าฟินช์ ซึ่งเป็นนกที่มีชื่อเสียงด้านการขับขานเสียงเพลง


โดยธรรมชาติของนกซีบร้าฟินช์ ในช่วงเวลา 90 วันแรกของชีวิต นกซีบร้าฟินช์จะมี ‘ช่วงเวลาสำคัญในการเรียนรู้’ การร้องเพลง แต่หลังจากช่วงนั้น ความสามารถในการเรียนรู้เพลงใหม่ของพวกมันจะลดน้อยลง เนื่องจากเซลล์ประสาทถูกยับยั้งจนเข้ามาขัดขวางการเรียนรู้เพิ่มเติม


ความเป็นไปนี้เองที่นักวิจัยหยิบขึ้นมาเทียบเคียงกับสมองของมนุษย์ ว่าพวกเขาสามารถฟื้นฟูความสามารถในการเรียนรู้ของนกซีบร้าฟินช์ที่โตเต็มวัยได้หรือไม่ โดยหลังจากทำการค้นคว้า พวกเขาลองใช้เทคนิคล้ำสมัยที่ชื่อว่า ‘Optogenetics’


Optogenetics คืออะไร? นี่คือเทคนิคทางการแพทย์และชีววิทยา ที่ใช้ ‘แสง’ ในการควบคุมการทำงานของเซลล์ในสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะในระบบประสาท เทคนิคนี้จะใช้โปรตีนที่ไวต่อแสงถ่ายโอนเข้าสู่เซลล์เป้าหมายจนผสานกัน และเมื่อเซลล์เหล่านั้นได้รับแสงในช่วงความยาวคลื่นที่เฉพาะเจาะจง เซลล์จะมีสามารถในการได้รับการกระตุ้นหรือลดการทำงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาการทำงานของเซลล์ประสาท การเข้าใจกลไกของโรค และสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาวิธีการรักษาต่างๆ


โดยนักวิจัยจากสถาบัน Max Planck ได้ใช้วิธี Optogenetics สำหรับเปิดกลไกการรับรู้ที่ปิดไปแล้วให้กลับมาทำงานใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้น่าตื่นเต้นอย่างมาก เพราะนกซีบร้าฟินช์เริ่มมีการเพิ่มองค์ประกอบใหม่ๆ เข้าสู่วิธีการร้องเพลง กล่าวคือสมมติฐานของทีมวิจัยนั้นสามารถทำได้จริง พวกเขาสามารถเปิดช่วงเวลาสำคัญในการเรียนรู้ได้อีกครั้ง


การค้นพบนี้ถือว่ามีความสำคัญไม่เพียงแต่สำหรับนกซีบร้าฟินช์ แต่ยังช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับความสามารถในการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ เนื่องจากช่วงเวลาสำคัญในการเรียนรู้มีอยู่ในมนุษย์เช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ภาษาและการพัฒนาในด้านต่างๆ ดังนั้นหากนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุและเข้าใจกลไกเหล่านี้ได้ ก็อาจทำให้เกิดการรักษาใหม่ๆ สำหรับโรคทางระบบประสาทและอาการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อการเรียนรู้


หรือพูดง่ายๆ ไม่แน่ว่าในอนาคตมนุษย์อาจจะมีโอกาสในการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต!