ถ้าว่ากันถึงคำจำกัดความ ‘การมีสติ’ หมายถึงความสามารถของแต่ละบุคคลในการมุ่งความสนใจไปที่ปัจจุบัน ในลักษณะที่เปิดกว้าง ใคร่รู้ และไม่ตัดสิน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา หนึ่งในสถานการณ์ที่เรามักจะได้ยินคำนี้บ่อยๆ คือช่วงเครียดหรือมีปัญหา ที่หลายคนมักเตือนกันว่า “ให้มีสติ” เข้าไว้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ความเครียดบรรเทาได้
แต่ดูเหมือน Tom Zagenczyk กับทีมคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ธแคโรไลนาไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะในมุมของเขา ในยามเครียด สติอาจไม่ได้ช่วยให้สงบเสมอไป กลับกันเสียอีก ความพยายามมีสติอาจทำให้เกิดความท้าทายในจิตใจมากกว่าเดิม
“ลองนึกตามดูก็ได้ ว่ามันยากแค่ไหนที่ต้องมีสติเมื่อคุณกำลังประสบความเครียด และที่สำคัญกว่านั้น ถ้าช่วงเวลาดังกล่าว คือช่วงเวลาที่แสนยาก จะไม่ดีกว่าหรอถ้าคุณไม่ต้องจมอยู่กับประสบการณ์เล่านั้นนาน ดังนั้นเราจึงตั้งสมมติฐานขึ้นมา ว่าในช่วงที่มนุษย์มีปัญหา คุณอาจจะต้องการ ‘ความหวัง’ มากกว่าหรือเปล่า”
ซาเกนซิกอธิบายต่อไปว่าด้วยความที่ความหวังคือการมองไปข้องหน้า และการมีสติคือการอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้นทีมวิจัยจึงอยากลองศึกษาดู ว่าทั้งสองความคิดนี้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและทัศนคติของผู้คนในช่วงยากลำบากแตกต่างกันหรือไม่ โดยพวกเขาทำการทดสอบในกลุ่มทดลองกว่า 247 คน ก่อนได้ผลการทดลองที่น่าสนใจ
“โดยจากข้อมูล การศึกษาบอกเราว่า ‘ความหวัง’ เกี่ยวข้องกับการมีความสุข แต่การมีสติไม่ได้เป็นเช่นนั้น” Kristin Scott ผู้ร่วมการศึกษาและศาสตราจารย์ด้านการจัดการจากมหาวิทยาลัยเคลมสันกล่าว “และเมื่อผู้คนมีความหวังและมีความสุข พวกเขาจะได้รับความทุกข์น้อยลง มีส่วนร่วมกับงานมากขึ้น และรู้สึกตึงเครียดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานน้อยลง”
“เปล่าเลย เราไม่ได้จะบอกให้คนไม่มีสติ ความจริงแล้วการมีสตินั้นยังคงมีคุณค่ามหาศาล แน่นอนว่าการอยู่กับปัจจุบันย่อมมีข้อดีอย่างแน่นอน” Sharon Sheridan ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการที่มหาวิทยาลัยเคลมสันกล่าวเสริม “แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนยังต้องรักษาทัศนคติที่มีความหวัง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความเครียดเป็นเวลานาน ผู้คนควรมีทั้งความหวังและมีสติ
“ยึดมั่นในแนวคิดไว้ ว่าถึงเรากำลังยืนอยู่ตรงนี้ แต่เมื่อมองไปข้างหน้า มันมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ชารอนทิ้งท้าย