ทีมนักวิจัยเสนอ สิ่งมีชีวิตแรกอาจเกิดในเม็ดฝน เพราะเป็นที่เดียวที่สภาพแวดล้อมพร้อมให้เกิดขึ้น

“สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?”


เชื่อเหลือเกินว่าคำถามข้างต้น เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังไร้คำตอบ เนื่องจากความยากในการพิสูจน์และสมมติฐานที่เกินกว่าจินตนาการถึง แต่ถึงกระนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาทฤษฎีต่างๆ ก็เกิดขึ้น เพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ที่จะตอบคำถามข้างต้นนี้


ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยล่าสุดจาก Pritzker School of Molecular Engineering ของมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่เหล่านักวิจัยมุ่งเน้นศึกษาไปที่การเกิดขึ้นของ RNA เป็นหลัก เพราะเชื่อว่านี่เองเป็นจุดเริ่มต้นก่อนพัฒนาไปเป็นสิ่งมีชีวิต โดยพวกเขานับหนึ่งจากคำถามง่ายๆ ว่าในเมื่อช่วงเวลาก่อนหน้า แวดล้อมในโลกสร้างสมดุลสำหรับ ‘การไม่มีชีวิต’ เสร็จแล้ว แล้วทำไม ณ ชั่วขณะของจุดเวลาหนึ่ง แวดล้อมสำหรับสิ่งมีชีวิตจึงเกิดขึ้น จนเอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตตามมา


ซึ่งหลังจากศึกษาอยู่นาน ผลปรากฏว่าเหล่านักวิจัยได้เสนอคำตอบที่มีชื่อว่า “เม็ดฝน”


อธิบายอย่างเข้าใจง่าย ลองจินตนาการถึงแวดล้อมหนึ่งในอดีตกว่า 750 ล้านปีก่อน ที่ต่อให้ในเวลานั้นมี RNA สักหน่วยหนึ่งที่เกิดกลายพันธ์จนพร้อมที่จะวิวัฒนาการไปเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ท่ามกลาง RNA อื่นที่ยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ได้มีชีวิต ด้วยธรรมชาติแล้ว RNA ที่กลายพันธ์นั้นจะเกิดการแลกเปลี่ยนกับ RNA โดยรอบทัน จนกลับกลายเป็น RNA ที่เหมือนกันในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถเกิดเป็นชีวิตขึ้นมาได้แม้จะเกิดการกลายพันธ์ไปแล้ว


ทีนี้จึงนำมาสู่คำถามต่อมา ว่าในโลกยุคดึกดำบรรพ์ มันมีสภาพแวดล้อมไหนไหม ที่ทำให้การแลกเปลี่ยนระหว่าง RNA ‘ไม่เกิดขึ้น’ เป็นช่วงเวลานานพอ เพื่อให้ RNA สำหรับการมีชีวิตที่กลายพันธ์แล้วสามารถพัฒนาต่อไปได้ ผลปรากฏว่าหลังจากทดลองในห้องแลป พวกเขาได้เจอว่า ‘น้ำกลั่น’ มีคุณสมบัติดังกล่าว กล่าวคือภายใต้คุณสมบัติของน้ำกลั่น ทุกๆ RNA จะได้รับการห่อหุ่มจนไม่เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ดังนั้นสมมติว่าในช่วงเวลาที่ RNA หนึ่งอยู่ในน้ำกลั่นแล้วเกิดกลายพันธ์ การกลายพันธ์นั้นก็จะสามารถคงอยู่


แล้ว ‘น้ำกลั่น’ ในโลกดึกดำบรรพ์มาจากไหนล่ะ ใช่แล้ว, เม็ดฝนนั่นเอง


เมื่อได้ไอเดียดังกล่าว ทีมวิจัยจึงทำการทดลองต่อเนื่อง โดยนำน้ำฝนจริงมาเป็นตัวกลางแล้วใส่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเข้าไป ผลปรากฏว่าผลการทดลองเป็นไปดังหวัง ไม่มีการแลกเปลี่ยนกันของ RNA ดังนั้นถึงต่อให้น้ำฝนที่เก็บมาจะไม่ได้เหมือนกับ 750 ล้านปีที่แล้ว แต่อย่างน้อย ‘ทฤษฎีสิ่งมีชีวิตแรกในน้ำฝน’ ของพวกเขาก็มีน้ำหนักพอให้ศึกษาต่อ


ซึ่งจริงอยู่ที่กว่าจะทดลองจนสามารถยืนยันได้ยังต้องการเวลาอีกมาก แต่อย่างน้อยการได้ศึกษาทดลองจนสามารถพามนุษย์ยุคปัจจุบันย้อนกลับไปเมื่อ 750 ล้านปีก่อน นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลย และไม่แน่นะ ถ้าสุดท้ายชุดความรู้นี้เป็นจริง การค้นพบต้นกำเนิดของชีวิตอาจนำพามาซึ่งการค้นพบความลับอีกหลายอย่างของมนุษย์ก็ได้ ใครจะรู้