Baby Cage กรงเด็กแดดเดียว นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพราะอยากให้เด็กสัมผัสอากาศบริสุทธิ์

“อากาศบริสุทธิ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต สุขภาพ และการเจริญเติบโต พอๆ กับที่เราต้องการอาหารที่เหมาะสมในแต่ละวัน”
ถ้าอ่านดูด้วยสายตาในปัจจุบัน ข้อความข้างต้นนี้ดูจะเป็นเรื่องปกติ ไม่แปลกใหม่แต่อย่างใด แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อครั้งข้อความดังกล่าวปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือ ‘The Care and Feeding of Children’ โดยคุณหมอกุมารแพทย์ชาวอเมริกัน Luther Emmett Holt เมื่อปี 1884 แนวความคิดนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่มากในสังคม เนื่องด้วยในยุคสมัยดังกล่าว องค์ความรู้ทางการแพทย์ยังไม่ได้ก้าวไกลเท่าใดนัก อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลก็เป็นไปอย่างจำกัด ดังนั้น เมื่อบทความเกี่ยวกับอากาศบริสุทธิ์กับสุขภาพของลูกน้อยถูกเผยแพร่ ประเด็นดังกล่าวจึงเริ่มเป็นที่พูดถึงทันที ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นำมาซึ่งความตระหนักรู้ที่ผู้ปกครองเริ่มพยายามจะพาลูกน้อยไปสัมผัสอากาศบริสุทธิ์บ้าง แต่ความพยายามนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะถ้าย้อนภาพกลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษที่ 18 จนถึงต้นทศวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประชากรในเมืองใหญ่เริ่มเพิ่มจำนวนจนแออัดพอดี พวกเขาต้องอยู่รวมกันใน ‘บ้านกล่อง’ หรือตึกใหญ่ที่บรรจุห้องพักอาศัยไว้จำนวนมาก ดังนั้น ถึงแม้ยังไม่ใช่ยุคสมัยที่การเผาไหม้ของเครื่องจักรรถยนต์กลายเป็นมลพิษทางอากาศ แต่การที่ลูกน้อยจะอยู่รายล้อมด้วยอากาศบริสุทธิ์ก็เป็นสิ่งที่ยากเหลือเกิน เนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่อย่างที่เรารู้กันนั่นแหละว่า เมื่อมีวิกฤติ นวัตกรรมในการแก้ปัญหาย่อมเกิดขึ้น และนั่นเองคือจุดกำเนิดของ ‘Baby Cage’ หรือ ‘กรงเด็ก’ ถ้ายึดตามสิทธิบัตรที่ถูกจดขึ้นเป็นครั้งแรก Baby Cage เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1922 โดย Emma Reid ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นวัตกรรมดังกล่าวถูกออกแบบมาในรูปแบบของโครงเหล็กที่ยึดและยืดออกจากหน้าต่างของอาคารอพาร์ตเมนต์หรือบ้านที่อยู่ในเขตเมือง เพื่อจุดมุ่งหมายที่ผู้คิดค้นหวังว่าเมื่อเด็กถูกวางในกรง ลูกน้อยก็จะสามารถเล่นและได้รับอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกโดยที่ยังอยู่ในสายตาของพ่อแม่ได้ จริงอยู่ที่เมื่อมองดูรูปภาพในอดีตนี้ แล้วเรารู้สึกว่ามันช่างแสนอันตราย แต่รู้ไหมว่าในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น Baby Cage กลับได้รับความนิยมแพร่หลาย โดยขยายไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป เพราะด้วยความที่นวัตกรรมไม่ซับซ้อนเกินเข้าใจ แถมยังตอบโจทย์ของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ตรงกับองค์ความรู้ใหม่ที่บอกว่าเด็กๆ ควรออกไปสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ และตรงกับสภาพสังคมที่หลายครอบครัวไม่ได้มีพื้นที่ให้ลูกน้อยได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ Baby Cage จึงกลายเป็นภาพจำที่ผูกติดกับหลายอาคารในเวลานั้น แต่สุดท้ายก็เหมือนกับอีกหลายนวัตกรรมบนโลก เพราะเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความนิยมของ Baby Cage ก็ลดลง เนื่องด้วยสาเหตุ 3 ประการ หนึ่งคือความปลอดภัยที่หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายเพื่อควบคุมสิ่งปลูกสร้าง Baby Cage จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย สองคือความเปลี่ยนแปลงของเมืองและเศรษฐกิจ ที่เริ่มขยายจนครอบครัวที่มีลูกน้อยสามารถเลือกที่อยู่อาศัยได้ตอบโจทย์กว่าเดิม และสามคือมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถนั่นเอง สุดท้าย Baby Cage ก็หายไป และกลายเป็นเพียงหนึ่งรอยทางในประวัติศาสตร์นวัตกรรมเท่านั้น แต่เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง? หลักใหญ่ใจความที่เราอยากชี้ให้เห็น คงเป็นการเน้นย้ำถึง 2 ประเด็นผ่าน 2 มุม นั่นคือการเกิดขึ้นและดับไปของนวัตกรรม โดยถ้ามองเฉพาะในมุมของการเกิดขึ้น จะบอกว่านวัตกรรม Baby Cage นั้น ‘ตอบโจทย์ความต้องการ’ และสามารถ ‘แก้ไขปัญหา’ ของยุคสมัยก็คงไม่เกินเลยไปนัก เพราะมันทั้งง่ายและได้ประโยชน์ (ตามความเข้าใจ ณ ตอนนั้น) นั่นเองที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์นี้ได้รับความนิยมในเวลาอันสั้น แต่ในขณะเดียวกัน จุดจบของนวัตกรรมก็ให้ข้อคิดกับเราเช่นกัน นั่นคือต่อให้หวังดีสักเพียงใด แต่สุดท้ายทุกนวัตกรรมที่ออกแบบมาควรตั้งอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย อีกทั้งยังต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นวัตกรรมดังกล่าวยังคงมีลมหายใจต่อ ไม่จากไปเนื่องจากการหมุนอย่างเร็วรี่ของสังคมเหมือนนวัตกรรมก่อนหน้า แต่รู้อย่างนี้แล้วก็น่าหันมามองปัจจุบันเหมือนกัน ว่าในอนาคต นวัตกรรมที่ได้รับความนิยมตอนนี้ก็อาจหายไปก็ได้ สวนทางกับอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อตอบความต้องการของสังคมได้เช่นกัน
ส่วน EP หน้า ‘ณ WHAT!? ตกรรม’ จะพาทุกคนย้อนความไปเจอนวัตกรรมในอดีตอะไรอีกบ้าง เกาะขอบจอติดตามได้ที่นี่เลยนะ