Tech Up : อัปเกรดงานวิจัย - ให้บริการเทคฯ ขั้นสูง ความเชี่ยวชาญเชิงลึกที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้

Tech Up 
อัปเกรดงานวิจัย — ให้บริการเทคฯ ขั้นสูง 
ความเชี่ยวชาญเชิงลึกที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ 

_______ 


⠀⠀⠀หากพูดถึง ‘เทคโนโลยีเชิงลึก’ หรือ ‘Deep Tech’ อาจฟังดูเป็นเรื่องไกลเสียเหลือเกินสำหรับใครหลาย ๆ คน ที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว นวัตกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันรอบตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การเกษตร พลังงาน การขนส่ง หรือวัสดุศาสตร์ ล้วนแล้วแต่มีที่มาจาก ‘Deep Tech’ ด้วยกันทั้งนั้น 

ด้วยความซับซ้อนที่ต้องอาศัยองค์ความรู้เชิงลึก ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงกระบวนการวิจัยขั้นสูงที่ต้องผสานทักษะในหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เทคโนโลยีดังกล่าวจึงมักถูกพัฒนาอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยหรือห้องปฏิบัติการวิจัยชั้นนำ ทำให้มีโอกาสน้อยนักที่บุคคลทั่วไปหรือแม้แต่นักวิจัยเอง จะสามารถเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์หรือต่อยอดความรู้ แม้แต่การจะยกระดับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือทางวิชาจากหลากหลายประเทศ 

⠀⠀⠀นั่นกลายมาเป็นหนึ่งในพันธกิจของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะหน่วยงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมทั้งในทุกด้าน สำหรับการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีกลุ่มคนซึ่งให้การดูแลรับผิดชอบด้านนี้โดยเฉพาะ ในชื่อ ‘ทีม Tech Up’


ทีมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Tech Up: Deep-technology and Scale-Up Facility Support) หรือในชื่อย่อ Tech Up 

⠀⠀⠀คือทีมที่รวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้ด้าน Deep Tech รวมถึงทักษะการจัดการและประสานงานโครงการ โดยมีภารกิจหลักคือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Research and Development: R&D) เพื่อสร้างเทคโนโลยีต้นแบบ (Prototype) สำหรับการนำไปต่อยอดในธุรกิจด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังให้การวิเคราะห์ทดสอบเพื่อเป็นข้อมูลทางการตลาด รวมถึงเป็นตัวเร่งสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริม ให้เกิดความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกเหล่านี้ให้ได้รับการอัปเดต (Update) และอัปเกรด (Upgrade) ยิ่งขึ้นไปอีกนั่นเอง โดยทีม Tech Up จะให้การดูแลทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่


ABPLAS 

หลายคนเมื่อได้ยินคำว่า ‘พลาสมา’ อาจคิดว่าต้องเกี่ยวข้องกับเลือดหรือการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว พลาสมาเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในด้านการเกษตร อาหาร ชีวภาพ และวัสดุศาสตร์ 

⠀⠀⠀เราจึงมีแล็บ ABPLAS หรือ ศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพ ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยทีม Tech Up ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีพลาสมาอย่างครบวงจร โดยเน้นไปที่การตอบโจทย์อาจารย์-นักวิจัย นักศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะให้การสนับสนุนทั้งในส่วนการพัฒนาเครื่องมือ-เครื่องจักรด้านพลาสมา, การวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของพลาสมาในระบบต่าง ๆ, การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยพลาสมา และการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติวัสดุด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง 


CIMO 

เทคโนโลยีไอออนอาจไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่หากเราบอกว่า “เรามีเครื่องไอออนขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ล่ะ?

⠀⠀⠀แล็บ CIMO หรือ ศูนย์พัฒนาวัสดุด้วยเทคโนโลยีลำไอออนและการวิเคราะห์เชิงแสง คือห้องปฏิบัติการที่นำเทคโนโลยีไอออนหรือลำไอออนที่ว่านี้ มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพของอัญมณี (พลอย) ซึ่งเปิดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงบริการตรวจวิเคราะห์อัญมณีและวัสดุอื่น ๆ ด้วยเครื่องมือขั้นสูงที่ไม่ทำลายตัวอย่าง และสามารถออกใบรับรองมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้ครบ จบในที่เดียว นอกจากนี้ Tech Up ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านเครื่องไอออนสำหรับอาจารย์-นักวิจัยที่ต้องการจะต่อยอดในสายนี้โดยเฉพาะ 


THE BRICK FABLAB

เคยมีภาพของสักชิ้นในหัว แต่ไม่รู้จะสร้างมันขึ้นมาอย่างไรไหม? เทคโนโลยี 3D Printing คือทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้ 

⠀⠀⠀THE BRICK FABLAB หรือ ศูนย์เทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานสามมิติแบบครบวงจร คือห้องปฏิบัติการที่ให้บริการขึ้นรูปชิ้นงานต้นแบบสามมิติ (3D Printing) อย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย ครอบคลุมวัสดุ 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติก โพลิเมอร์ และโลหะ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์พร้อมให้บริการและคำปรึกษา สำหรับนักศึกษา นักวิจัย และบุคคลทั่วไปที่ต้องการสร้างสรรค์งานต้นแบบ เพื่อนำไปต่อยอดในด้านต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และได้ตัวอย่างชิ้นงานที่มีความละเอียดแม่นยำสูง 


สร้างพันธมิตรด้าน Deep Tech 

⠀⠀⠀นอกจากบริการในแล็บต่าง ๆ แล้ว ทีม Tech Up ยังดำเนินงานในส่วนของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเชิงลึกทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านข้อตกลงและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผลักดันให้เกิดศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) โดยใช้กลไกการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) นั่นคือการรับเอาองค์ความรู้และนักวิจัยจากนานาประเทศ มาร่วมวิจัยและพัฒนาให้เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ในประเทศไทย ได้รับการยกระดับไปอีกขั้น 


⠀⠀⠀STeP และทีม Tech Up ยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในทีม ความได้เปรียบทางเครื่องไม้เครื่องมือ และความเข้มแข็งของเครือข่ายพันธมิตร ในการผลักดันให้ Deep Tech ที่มีอยู่ในมือของเรานั้น ได้รับการพัฒนาต่อยอดและถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

สำหรับนักศึกษา อาจารย์-นักวิจัย ผู้ประกอบการ หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจจะใช้บริการเครื่องจักร-เครื่องมือในแล็บต่าง ๆ หรือเข้ารับคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีเชิงลึกในข้างต้น สามารถติดต่อได้ที่ในทุกช่องทางติดต่อของ STeP หรือเดินทางมาหาเราโดยตรงได้ที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) 


เรารู้ว่า Deep Tech มันยาก เราจึงพร้อมเป็นแรงผลักดันให้ เพราะ STeP เราทำอะไรได้อีกเยอะ 


_______

ทำความรู้จักทีมอื่น ๆ จาก STeP ได้ที่: Know What We Do 

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #knowWhatWeDo #DeepTech #เทคโนโลยีขั้นสูง #พลาสมา #ไอออน #3DPrint