“เงินเดือนเท่าไร?” “เมื่อไหร่จะแต่งงาน?” สงสัยไหม รวมญาติทีไรทำไมใส่ใจเรื่องเราทุกที

“เงินเดือนเท่าไร?” “เมื่อไหร่จะแต่งงาน?” 
สงสัยไหม รวมญาติทีไรทำไมใส่ใจเรื่องเราทุกที 

__________


“เกรดเท่าไร” “จบมาทำอะไร” “ได้เงินเดือนเยอะไหม” “เมื่อไหร่จะแต่งงาน” 

⠀⠀⠀เข้าเทศกาลตรุษจีน บรรยากาศก็คึกคักขึ้นทันตาเห็น นอกจากการจับจ่าย ซื้อของไหว้ เฉลิมฉลองกันตามธรรมเนียมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลตรุษจีนคือ โอกาสพิเศษที่ให้คนในครอบครัวและญาติพี่น้องได้พบปะสังสรรค์ ใช้เวลาร่วมกันอย่างสนุกสนาน และคงไม่พ้นการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ซึ่งบางครั้ง บางคำถามที่แสดงความห่วงใยและใส่ใจของญาติ ๆ ก็ทำเอาวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวอึดอัดใจขึ้นมาได้เหมือนกัน 



ผลสำรวจเผย คนรุ่นใหม่อยาก ‘เลี่ยง’ วันรวมญาติ

⠀⠀⠀เมื่อไม่นานนี้ มีผลสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่ กลัวการต้องพบเจอคำถามและบทสนทนาที่น่าอึดอัดระหว่างวันรวมญาติ ซึ่งคำถามส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ อาทิ มีแฟนไหม? จะแต่งงานเมื่อไหร่? มีลูกหรือยัง? ยิ่งไปกว่านั้นคือ 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ญาติมักถามคำถามเดิมเหล่านี้ซ้ำทุกครั้ง เจอกี่รอบ ถามคำถามเดิมทุกรอบ ถามแล้ว ถามอีก! แง! 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนรุ่นใหม่มักหลีกเลี่ยงการไปร่วมสังสรรค์วันรวมญาติในเทศกาลต่าง ๆ กันมากขึ้น


รวมญาติทีไร ทำไมถึงใส่ใจเรื่องของเราทุกที 

⠀⠀⠀แม้ลึก ๆ เราจะรู้ว่าเขาพยายามชวนคุย แต่บางคำถามก็สร้างความลำบากใจให้ไม่น้อย อีกทั้งยังพาลให้รู้สึกเหมือนกำลังถูก “ประเมินความสำเร็จ” อยู่เนือง ๆ 

โดยนักพฤติกรรมศาสตร์ เลือกอธิบายพฤติกรรมแสนจะใส่ใจนี้ ด้วยคำว่า “Nepotistic Nosiness” ซึ่งใช้สื่อถึงผู้ที่มีอำนาจหรือสถานะทางสังคมสูงกว่า ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเครือข่ายของตัวเองเพื่อเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่น 

เมื่อนำมาใช้ในบริบทของครอบครัว จะหมายถึงพฤติกรรมความอยากรู้อยากเห็นในหมู่คนใกล้ชิดหรือเครือญาติที่มีมากเกินไป บางครั้งอาจถึงขั้นเข้าไปยุ่งหรือแทรกแซงการใช้ชีวิต และบางกรณีอาจไม่ได้เกิดจากความเป็นห่วงเป็นใยเท่านั้น แต่เกิดจากความอยากที่จะควบคุมหรือมีอิทธิพลต่อคนในครอบครัว ซึ่งความว้าวคือ พฤติกรรมเหล่านี้ มีแรงขับมาจากสัญชาตญาณเก่าแก่ในการดำรงเผ่าพันธุ์! 


เบื้องหลังความใส่ใจของญาติ ที่อาจเป็นผลมาจากร่องรอยวิวัฒนาการ

⠀⠀⠀นักวิทยาศาสตร์สายวิวัฒนาการมองว่า ความใส่ใจเกินพอดีของญาติเรา โดยเฉพาะในเรื่องคู่ครองและการมีลูกนี้ อาจเกี่ยวข้องกับการเอาตัวรอดตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งคาดหวังให้ทายาทหรือเครือญาติของตัวเองอยู่รอดและสืบสายเลือดต่อไป

โดยในงานศึกษาของนักพฤติกรรมศาสตร์ Jason Faulkner และ Mark Schaller เอง ก็ได้อธิบายว่า การที่คนเราอยากรู้ว่าญาติ ๆ หรือสมาชิกทางสายเลือดของเรามีศักยภาพในการหาคู่หรือผลิตทายาทอย่างไรบ้าง เป็นแรงขับมาจากสัญชาตญาณ ที่ต้องการรู้ถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเผ่าพันธุ์

ส่วนคำถามอื่น ๆ ที่ว่า เราเรียนหรือทำงานเก่งอย่างไร มีรายได้เท่าไหร่ อ้วนขึ้นไหม คล้ำไปหรือเปล่า เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่เป็นปัจจัยในการหาคู่ หากเราประสบความสำเร็จหรือมีรูปลักษณ์ที่ดีตามมาตรฐาน (ของเขา) เราก็จะมีแนวโน้มในการหาคู่ครองได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเจตนาเบื้องหลังคำถามเหล่านั้นจะดีหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันอาจไม่นำไปสู่อะไรเลยนอกจากความอึดอัดใจระหว่างกัน


ช่วยกันสร้างวันรวมญาติที่น่าไปกันเถอะ 

⠀⠀⠀ต้องยอมรับว่าคำถามเพียงไม่กี่คำ มีผลทำให้สายสัมพันธ์ของครอบครัวเหินห่างกันมากขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เรามาหาทางออกร่วมกันดีกว่า ว่าจะสร้างศิลปะการสนทนาในวันรวมญาติอย่างไร ให้แฮปปี้กันทุกฝ่าย 

  • รับมืออย่างไร กับความห่วงใยที่ปฏิเสธไม่ได้ของญาติผู้ใหญ่

⠀⠀⠀อย่างแรก คุณต้องถือหลัก ‘ทำความเข้าใจ’ ไว้ตัวโต ๆ ว่าบ้างครั้ง คำถามเหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจจะจี้ใจเรา เป็นเพียงความอยากรู้อยากเห็นของผู้ถามก็เท่านั้น หากคำถามใดตอบได้ ก็สามารถเลือกตอบตามความสบายใจ หากมีประเด็นไหนที่อึดอัดไม่อยากตอบ ก็สามารถแสดงท่าทีได้ด้วยความเงียบหรือการเปลี่ยนเรื่อง เพราะบางครั้งการสื่อสารให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความไม่สบายใจของเราก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน

แต่ถ้าหากอยากเลี่ยงการถูกถามเสียตั้งแต่แรก ก็ให้ดูทิศทางลมสักหน่อยว่าการสนทนากำลังจะวนมาที่คำถามชวนอึดอัดใจเหล่านี้ไหม หากมีเค้าลางมาแล้วก็ให้รีบตัดบทสนทนา หรือพาไปที่กิจกรรมอื่นต่อไปเสียเลย และที่สำคัญคือ อย่าลืมเตือนตัวเองเสมอว่า เราอย่ากลายเป็นญาติผู้ใส่ใจคนนั้นเสียเองล่ะ 

  • ญาติผู้ใหญ่ลองเปิดใจ ลูกหลานเรามีค่ามากกว่าค่านิยมของสังคม

⠀⠀⠀เราเข้าใจดีว่าในฐานะญาติผู้ใหญ่ คำถามของเรานั้นมันเจือปนด้วยความเป็นห่วงเป็นใย และความคาดหวังที่ต้องการจะรับรู้ว่าลูกหลานของเรา ‘ใช้ชีวิตของเขาได้ดีไหม’ แต่เราต้องตระหนักก่อนว่า สิ่งที่คิดว่า ‘ดี’ ในสายตาของเรานั้น อาจเป็นแค่ความเห็นตามค่านิยมของสังคม ไม่ใช่สิ่งที่นำมาใช้ประเมิณความสำเร็จได้จริง

ทุกวันนี้ โลกของเราเปิดกว้างให้ความหลากหลายมากขึ้น มีความเก่ง ความงาม ความสุข และความสำเร็จมากกว่าหนึ่งรูปแบบ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในตัวเอง หากเราลองเปลี่ยนคำถามสักนิด จากการถามเพื่อเอาคำตอบ เป็นการถามเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจ โดยไม่นำความเห็นของตัวเองไปตัดสินล่วงหน้า

อาทิ เปลี่ยนจาก “เกรดเท่าไร” “จบมาทำอะไร” เป็น “คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร” “เรียนหนักไหม เหนื่อยหรือเปล่า” เปลี่ยนจาก “ได้เงินเดือนเยอะไหม” เป็น “สนุกกับงานที่ทำอยู่ไหม” หรือเปลี่ยนจาก “เมื่อไหร่จะแต่งงาน” เป็น “ชีวิตตอนนี้มีความสุขดีหรือเปล่า” นั่นน่าจะสร้างบรรยากาศของวงสนทนาที่ดีขึ้นได้ยิ่งขึ้น 


⠀⠀⠀สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะไหนของวันรวมญาติ หากมีสิ่งใดที่ปล่อยผ่านได้ก็ทิ้งมันไป แล้วโฟกัสที่ความสุขในวันเทศกาลเสียจะดีกว่า อย่าให้ความใส่ใจเกินพอดีเหล่านี้มาเป็นตัวทำลายช่วงเวลาดี ๆ ของครอบครัวเลย 

ขออวยพรให้ทุกคนมีความสุขในทุกตรุษจีน และทุกเทศกาลต่อ ๆ ที่จะมาถึง 


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #ตรุษจีน2567 #HappyChineseNewYear2024 #วันรวมญาติ 


ขอบคุณแหล่งอ้างอิง

https://thematter.co/social/why-and-how-to-deal-with-nosy-relatives/49627

https://thematter.co/social/family-gathering-questions/163542

https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/2574116472913889