ลบอดีตออกจากใจ แต่ไม่เคยหายไปจากโลกออนไลน์ Digital Footprint คืออะไร ทำไมกลายเป็นเงาตามตัว
เคยไหม? เข้าเฟซบุ๊กแล้วเจอแจ้งเตือนความทรงจำของรูปหรือข้อความที่เราโพสต์ไว้เมื่อหลายปีก่อน
แล้วเคยสงสัยหรือเปล่าว่า บางเรื่องที่ตัวเราเองก็ลืมไปแล้ว แต่ทำไมเฟซบุ๊กถึงยังจำได้ และมันจะจำไปถึงเมื่อไหร่ ที่สำคัญคือ ถ้าหากเราเลือกจะกดลบทิ้งแล้วมันจะหายไปจริงไหม หรือวันดีคืนดีจะถูกผู้ไม่ประสงค์ดีขุดขึ้นมาทำร้ายเราภายหลัง
⠀⠀⠀ข้อกังวลใจเหล่านี้เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น เมื่อเราได้เห็นกรณีตัวอย่างของคนดังหลายเคสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะสิ่งที่ตัวเองเคยแสดงออกไว้ในอดีตบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะในรูปแบบของข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอก็ตาม ซึ่งเราเรียกมันว่า ‘Digital Footprint’
Digital Footprint คืออะไร ทำไมกลายเป็นเงาตามตัว
Digital Footprint (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) หรือคำที่ถูกแปลงไปในทางติดตลกอย่าง ดิจิทัลฟรุตตี้, ดิจิม่อนฟุตพริ้นท์ หรือล่าสุดกับดิจิทัลฟุตลองชีส เรียกว่าถูกนำไปใช้กันอย่างสนุกสนานเลยทีเดียว
หากแปลตรงตัว Digital Footprint ก็คือ #รอยเท้าบนโลกดิจิทัล ซึ่งก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน นั่นคือร่องรอยและข้อมูลต่าง ๆ ที่เราทิ้งไว้บนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการท่องเว็บ การค้นหาข้อมูล การโพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊ก การลงรูปภาพบนอินสตาแกรม การดูคลิปบนยูทูป การซื้อของออนไลน์ หรือแม้แต่การใช้งานผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมและบันทึกไว้ทั้งสิ้น บางครั้งละเอียดถึงขั้นรู้แม้กระทั่งจำนวนการคลิกของเราเลยด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น ลองจินตนาการว่าเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นสถานที่ที่ฉาบด้วยซีเมนต์เปียก ไม่ว่าเราจะก้าวไปทางไหน แตะอะไร หรือขีดเขียนสิ่งใดไว้ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เมื่อซีเมนต์แห้งก็จะทิ้งร่องรอยเหล่านั้นให้คงอยู่อย่างยาวนาน
Digital Footprint แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
⠀⠀⠀1. Passive Digital Footprint คือ ร่องรอยหรือข้อมูลที่เราทิ้งไว้แบบไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้รู้ตัว เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติจากการใช้งานบนโลกออนไลน์ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือร่องรอย IP Address (เลขประจำอุปกรณ์) ของคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนที่เกิดขึ้นเมื่อเราคลิกไปที่หน้าเว็บไซต์หรือแตะเข้าไปยังแอปพลิเคชันต่าง ๆ
พูดง่าย ๆ ว่าเราใช้อุปกรณ์ไหนเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอะไร IP Address ของอุปกรณ์นั้นก็จะถูกบันทึกโดยอัตโนมัติว่าเราเคยเข้ามาใช้งานอะไรบ้าง นอกจากนี้ Passive Digital Footprint ยังรวมไปถึงประวัติการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต การท่องเว็บ การใช้งานโซเชียลมีเดีย อีกด้วย
⠀⠀⠀2. Active Digital Footprint คือร่องรอยหรือข้อมูลที่เราตั้งใจเปิดเผย เช่น การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพบนโซเชียลมีเดีย การแชร์แล้วแสดงความคิดเห็น การลงทะเบียนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน การสมัครหรือแชร์อีเมล์ อะไรก็ตามที่เราตั้งใจกรอกหรือโพสต์ด้วยตัวเอง ถือเป็นร่อยรองประเภทนี้ทั้งสิ้น ซึ่งรวมไปถึงรูปภาพหรือวิดีโอของเราที่ถูกโพสต์โดยคนอื่นด้วย
ที่ว่า Digital Footprint จะคงอยู่ยาวนาน มันนานแค่ไหน?
⠀⠀⠀เคยได้ยินคำว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไป” ไหม? อาจฟังดูน่ากังวลใจ แต่นั่นคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
⠀⠀⠀Digital Footprint จะอยู่ได้ยาวนานคงกระพันแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประเภทของรอยเท้าและวิธีการเก็บรักษา หากเป็นประเภท Passive Digital Footprint ที่เราไม่รู้ตัวเลยว่าเว็บไซต์หรือแอปฯ เก็บข้อมูลเราไปตอนไหน ข้อมูลเหล่านี้ ก็จะถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ หรือแอปฯ ต่าง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นเวลายาวนานหลายสิบปี หรืออาจถึงตลอดไปเลยก็เป็นได้
⠀⠀⠀ขณะที่ประเภท Active Digital Footprint เป็นสิ่งที่เรารู้ถึงการมีอยู่ของข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เรามีสิทธิในการลบ หรือขอให้ต้นทางแพลตฟอร์มลบให้ได้ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโอกาสที่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้โดยบุคคลที่สามหรือถูกกู้คืนกลับมาได้อยู่ดี นอกจากนี้ การเผยแพร่แบบเป็นสาธารณะ เช่น การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพบนโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงได้ง่าย อย่าง Twitter (X) หรือการเปิดโพสต์เป็นสาธารณะบน Facebook/Instagram รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่นผ่านแชท ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Digital Footprint สามารถอยู่ได้ยาวนานขึ้นไปอีกด้วย
ลบอดีตออกจากใจ แล้วจะลบ Digital Footprint ได้อย่างไรบ้าง
⠀⠀⠀แน่นอนว่าการมีอยู่ของรอยเท้าดิจิทัลนั้น อาจสร้างความกังวลใจให้หลายคน ในแง่ที่ไม่รู้ว่ามันจะย้อนกลับมาทำร้ายเราเมื่อไหร่ หรือจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีใช้มันมาสร้างความเสียหายให้เราได้มากน้อยแค่ไหน
⠀⠀⠀แต่อย่างที่ได้บอกไปในข้างต้นว่า Digital Footprint มีทั้งทีเกิดขึ้นโดยที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงเป็นการยากที่จะไล่ลบรอยเท้าเหล่านี้ให้หมดสิ้นปี สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ จึงเป็นการ ‘ลด’ รอยเท้าดิจิทัลของเรา ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด อาทิ
ใช้การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวอย่างรอบคอบบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ไม่จำเป็น เช่น เลขบัตรประชาชน ข้อมูลทางธุรกรรม หรือข้อมูลทางการแพทย์
ใช้รหัสผ่านที่รัดกุม และเปลี่ยนรหัสผ่านบ้างเมื่อใช้รหัสเดิมเป็นเวลานาน
ลบข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ต้องการออกจากเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
หมั่นลบประวัติการค้นหา ข้อมูลการท่องเว็บ และ Cookie
⠀⠀⠀แม้ Digital Footprint จะเป็นเรื่องใหม่ที่ควรตระหนัก แต่ก็ใช่ว่าจะต้องกังวลไปกับมันเสียจนไม่กล้า หรือทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับโลกออนไลน์หมดสนุก สิ่งสำคัญคือเราเพียงแค่ต้องระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และหมั่นตรวจสอบและลบประวัติการใช้งานเว็บไซต์อยู่เสมอ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในชีวิตขึ้นมา จะได้ไม่ต้องเล่นมุก “ถ้าฉันตาย เข้าไปลบประวัติการค้นหาเว็บไซต์ให้ฉันด้วย”
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #DigitalFootprint #รอยเท้าดิจิทัล