#เจาะเทรนด์คนเลี้ยงลูกขนปุย
"Pet Humanization" ตลาดใหญ่ของคนรักสัตว์เลี้ยงที่น่าลงทุน
“พ่อไม่ยอมไปไหนเลย กลัวไม่มีคนเฝ้าหมา”
“แม่ฉันยกมรดกให้แมวที่บ้านไปแล้ว”
“เสาร์นี้ไม่ว่าง ต้องพาลูกไปตัดขน”
“กลับบ้านก่อนนะ ลูกรอกินแมวเลียอยู่”
⠀⠀⠀ประโยคเหล่านี้ น่าจะตรงกับชีวิตของใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะลูกผู้มองดูพ่อแม่หลงใหลสัตว์เลี้ยงหัวปักหัวปำ หรือเป็นเราเสียเองที่รักและโอบอุ้ม ‘น้อง’ ทั้งหลายยิ่งกว่าใคร
เจ้าอาการรักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกอย่างนี้ เรียกกันว่า ‘Pet Humanization’
⠀⠀⠀Pet Humanization เรียกอีกอย่างว่า Pet Parent คือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการรักและเอ็นดูน้อง ๆ เหมือนลูกเท่านั้น แต่หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ ทุ่มเท ทั้งเงินและการเลี้ยงดู ตั้งแต่อาหารการกิน ดูแลสุขภาพ หาของเล่น เสื้อผ้า จัดมุมพักผ่อน/ที่นอนในบ้าน เรียกว่าแทบไม่ต่างจากเลี้ยงลูกจริง ๆ
ทำไมเทรนด์ Pet Humanization ถึงมาแรง ?
⠀⠀⠀จะว่ากระแสลูกหลานขนปุยเป็นเทรนด์ใหม่ ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกนั้นมีมานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้มาแรงเหลือเกินในยุคนี้ ก็คือวิธีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น...
คนใช้ชีวิตคู่น้อยลง คนมีคู่ก็เลือกไม่มีบุตร
จากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า อัตราการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงของไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากทุกปี ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กในไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดย 80.7% ของผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง มีสถานะโสด ขณะที่ 19.3% มีสถานะสมรสแล้ว และในจำนวนนี้ มีถึง 49% ที่ระบุว่า ‘พวกเขาเลือกเลี้ยงสัตว์แทนลูก’ นี่จึงถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนค่านิยมการสร้างครอบครัวของคนสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี
โควิด-19 ทำให้ผูกพันกับสัตว์เลี้ยง
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บังคับให้เราต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน จึงได้ใช้เวลาร่วมกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เกิดเป็นความผูกพันระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง หรือคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง ก็ใช้โอกาสในช่วงล็อกดาวน์ หาวิธีคลายเหงาด้วยการเริ่มรับสัตว์มาเลี้ยง จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งที่พึ่งทางใจ
ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน ผู้คนมีภาวะเครียดและซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น และกระจายตัวในหลายช่วงวัย จึงมีผู้เลี้ยงถึง 18% ที่เลือกเลี้ยงสัตว์เพื่อการบำบัด ช่วยสร้างความผ่อนคลาย ให้เจ้าของสามารถอาศัยความน่ารัก ความผูกพันของน้อง ๆ เป็นที่พึ่งทางใจ
ยุคแห่งอีคอมเมิร์ซ
อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อเทรนด์ Pet Humanization คือ การมีช่องทางจำหน่ายหลากหลาย ทั้งร้านค้าออฟไลน์ และช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้คนเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ลดความยุ่งยากในการเลี้ยงน้อง ๆ ไปได้อีกโข
ทำไมธุรกิจถึงน่าจับเทรนด์ Pet Humanization ?
ชาวทาสกำลังครองเมือง
จากข้อมูลการสำรวจของ Kantar Worldpanel ประเทศไทย พบว่าปี 2566 มีประชากรที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เกือบ 2 ล้านคนเลยทีเดียว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเภทสัตว์เลี้ยงที่คนไทยนิยมเลี้ยงมากที่สุด คือ น้องหมา คิดเป็น 40.4% รองลงมาคือ น้องแมว คิดเป็น 37.1% และสัตว์แปลก (Exotic Pet) คิดเป็น 22.6%
เพราะรัก ถึงยอมเปย์
เมื่อตั้งตัวเป็นทาสแล้ว ความรักก็ทำให้เราอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับน้อง ๆ ผลการสำรวจระบุว่า ชาวทาสส่วนใหญ่ใช้จ่ายค่าอาหารของสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยถึง 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน และยอมจ่ายเงินเพื่อรับบริการต่าง ๆ เพื่อการดูแลน้อง ๆ เฉลี่ยถึง 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง นี่ยังไม่นับการจ่ายยิบย่อยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ปลอกคอ หรือชุด เรียกว่าเป็นอีกกลุ่มตลาดที่มีการเติบโตสูงมาก
ถ้าเป็นเรื่องของน้อง ก็พร้อมมีส่วนร่วม
การมองสัตว์เลี้ยงเป็นลูก ทำให้เจ้าของส่วนใหญ่อยากมีกิจกรรมร่วมกับน้อง ๆ ในฐานะสมาชิกครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่เฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเท่านั้นที่ได้รับความนิยม อีเว้นท์หรือกิจกรรมเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาแรงและได้รับความสนใจสูงอีกด้วย
ตัวอย่างธุรกิจน่าสนใจ ตอบโจทย์พ่อ-แม่น้องขนปุยยุคใหม่
⠀⠀⠀ปัจจุบันมีธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อเข้ามาเติมเต็มความต้องการและแก้ไขปัญหาให้กับผู้เลี้ยงในยุคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีคู่แข่งไม่มาก จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย อาทิ
Pet Wellness Center — ศูนย์ดูแลน้องแบบครบวงจร ที่ให้บริการตรวจสุขภาพ รักษาโรค อาบน้ำ ตัดขน สปาสัตว์เลี้ยง ฝากสัตว์เลี้ยง จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ ไปจนถึงปรึกษาแพทย์ออนไลน์
Pet Training — ศูนย์ฝึกสำหรับน้องที่นิสัยไม่น่ารัก หรือศูนย์ฝึกสำหรับเตรียมพร้อมน้องเข้าสู่การประกวดโดยเฉพาะ
After Death Service — บริการต่าง ๆ หลังน้องกลับดาว ไม่ว่าจะเป็นบริการทำศพ รับทำรูปปั้นสัตว์เลี้ยง ของแทนใจ หรือตุ๊กตาน้องเสมือนจริง
Pet Nanny — พี่เลี้ยงสัตว์ตามบ้าน ให้บริการเข้าไปดูแลน้อง ๆ ที่บ้านตอนเราไม่อยู่ โดยที่เราไม่ต้องย้ายน้องไปฝากเลี้ยงไว้ที่อื่น
Pet Hostel — ที่รับฝากเลี้ยงระยะยาว สำหรับเจ้าของที่ไม่พร้อมด้านสถานที่เลี้ยงให้ไปฝากเลี้ยงน้องไว้ระยะหนึ่ง โดยยังต้องรับผิดชอบเรื่องอาหาร/ของใช้ และไปมาหาสู่น้องอย่างสม่ำเสมอ
Pet Space — พื้นที่กิจกรรมสำหรับน้อง ๆ โดยเฉพาะ เพื่อให้น้องได้ใช้เวลากับเจ้าของและเพื่อนสัตว์เลี้ยง
มีธุรกิจอื่น แต่ไม่อยากตกเทรนด์ Pet Humanization ทำอย่างไรได้บ้าง ?
Pet Marketing - Pet Influencer
เคยได้ยินประโยค “ทาสแมว จะมองหาแมวในทุกที่” ไหม? ในทำนองเดียวกัน เมื่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความรักหรือชื่นชอบสัตว์เลี้ยงประเภทไหนแล้ว เขาจะให้ความเอ็นดูน้อง ๆ ตัวอื่นร่วมไปด้วย การทำการตลาดโดยใช้รูปหมา-แมว หรือสัตว์เลี้ยงน่ารัก ๆ จะช่วยดึงความสนใจให้ทาสทั้งหลายอยากหยุดดูหรือคลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งรวมไปถึงการใช้ Influencer ที่เป็นสัตว์เลี้ยง ก็จะช่วยเรียก Engagement จากชาวทาสได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
ร้าน Pet Friendly
ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ห้าง หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่รองรับการพาสัตว์เลี้ยงมาด้วยได้ จะได้รับความสนใจจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากกว่าร้านทั่วไปเป็นเท่าตัว อย่างที่ได้เกริ่นไปในข้างต้นว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงมักไม่พลาดโอกาสที่จะได้พาสัตว์เลี้ยงไปในสถานที่ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้
⠀⠀⠀อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ถือเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีโอกาสทางธุรกิจเยอะไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยว่าปัญหา (Pain Point) ของผู้เลี้ยงมีเกิดขึ้นใหม่ ๆ อยู่เสมอ หากธุรกิจจับทางความต้องการเหล่านี้ได้ รับรองไปรุ่งอย่างแน่นอน
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #StartupStory #สัตว์เลี้ยง #PetFriendly #PetHumanization #ทาสแมว #ทาสหมา
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก
https://www.brandage.com/article/29294/Pet-Humanization-
https://www.marketingoops.com/reports/petsumer-marketing/
https://www.brandbuffet.in.th/.../10/pet-humanization-trend/