>


ทำความรู้จักกับ "ซีเซียม-137"
2023-03-24

► ทำความรู้จัก ซีเซียม-137
⠀⠀⠀ซีเซียม-137 (Cesium-137) เป็นสารกัมมันตรังสี (Radioactive) มีลักษณะเป็นโลหะอ่อนสีทองเงิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง มักจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ส่งผลให้สามารถฟุ้งกระจายและปนเปื้อนในอากาศ น้ำ หรือดินได้ง่าย หากแตกออกจากภาชนะที่ห่อหุ้มไว้
      โดยซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต หรือระยะที่สลายตัวไปจนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิมที่ประมาณ 30 ปี นั่นหมายความว่าสารดังกล่าวนี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด และในกระบวนการสลายตัวของซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีเบตาและรังสีแกมมาที่มีพลังงานสูงพอสมควร ซึ่งนับเป็นสารก่อมะเร็งอย่างหนึ่ง

► ซีเซียม-137 ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร?
⠀⠀⠀สารกัมมันตรังสีตัวนี้ มักถูกใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม โดยใช้เป็นแหล่งกำเนิดทางรังสีของเครื่องมือชนิดต่าง ๆ อาทิ เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เครื่องวัดระดับเพื่อตรวจวัดการไหลของของเหลวในท่อ และแทงก์ เครื่องวัดความหนาสำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ หรือฟิล์ม รวมถึงเครื่องหยั่งธรณีในอุตสาหกรรมขุดเจาะเพื่อบอกลักษณะเฉพาะของชั้นหินต่าง ๆ
       ในประโยชน์ทางการแพทย์ ซีเซียม-137 ถูกใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง รวมถึงใช้ในการปรับเทียบเครื่องมือทางการแพทย์บางชนิด นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยใช้เป็นแหล่งกำเนิดสำหรับการ sterile อาหารต่าง ๆ เช่น การชะลอความสุกของผลไม้ เป็นต้น

⠀⠀⠀เรียกว่าเป็นกัมมันตรังสีที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายเลยทีเดียว แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสารอันตรายแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาคือ "ซีเซียม-137 ปลอดภัยแค่ไหน?"
      โดยทั่วไป ซีเซียม-137 จะถูกปิดผนึกเก็บไว้ในภาชนะที่ออกแบบเพื่อป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงานจากการรับสัมผัสรังสี โดยวัสดุที่ใช้ต้องมีความทนทานต่อการกัดกร่อนและรังสี อาทิ ตะกั่วหรือเหล็กกล้า


► แล้วถ้าซีเซียม-137 เกิดเล็ดรอดออกจากภาชนะล่ะ?
⠀⠀⠀การปนเปื้อนของซีเซียม-137 ถ้าไม่มีระบบควบคุมที่ดี สามารถตกค้างได้ในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ พืช สัตว์ เช่น ผัก ผลไม้ อาหารทะเล อาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร จากนั้นจะแพร่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ ดังเช่นกรณีในข่าว ที่คาดเดากันว่าซีเซียม-137 ที่หายไปอาจถูกหลอมไปในเตาหลอมแล้ว ซึ่งผลกระทบที่อาจตามมาคือการกระจายของสารที่จะเข้าสู่บรรยากาศ แหล่งน้ำ แหล่งดินที่อยู่รอบ ๆ นำไปสู่ข้อกังวลว่าอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่อยู่ในรัศมี

► ซีเซียม-137 เป็นอันตรายกับเราอย่างไร?
⠀⠀⠀ความร้ายแรงของผลกระทบจากซีเซียม-137 ขึ้นอยู่กับปริมาณว่าเข้มข้นและระยะเวลาที่เราได้รับสาร ด้วยกัมมันตรังสีนี้ ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงทำให้ผู้สัมผัสมักไม่รู้ตัว แต่เมื่อซีเซียม-137 เข้าสู่รางกายเราแล้ว จะกระจายตัวไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ สามารถขับออกโดยเหงื่อและปัสสาวะได้ แต่จะยังเหลือตกค้างสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับ และไขกระดูก ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์
อย่างไรก็ตาม หากสัมผัสซีเซียม-137 ช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจนนัก แต่เมื่อสัมผัสระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มเกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง และแผลเปื่อย และหากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในดวงตา ชักเกร็ง และอาจร้ายแรงถึงเสียชีวิต

► หากสัมผัสกับซีเซียม-137 ต้องทำอย่างไร?
กรมควบคุมโรคได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวสิ่งที่ต้องทำหากสัมผัสกับซีเซียม-137 โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
 ลดการปนเปื้อน โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด
  ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ถุงปิดปากให้สนิท เพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรีงสีหรือไม่
⇒  หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายใน 1 สัปดาห์ หลังโดนรังสี ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติสัมผัสสารกัมมันตรังสี
  ลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี

⠀⠀⠀แม้ในเวลานี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการหายไปของแท่งซีเซียม-137 จะค่อย ๆ คลายออกมาทีละเปราะ โดยล่าสุดคาดการณ์ว่า วัสดุบรรจุที่หายไปจะถูกหลอมแล้ว และได้มีการเก็บกักฝุ่นทั้งหมดไว้ในสถานที่มิดชิดไม่ให้มีการรั่วไหล จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลอันตรายในวงกว้างดังที่กังวลกันในตอนต้น
แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ ประเทศไทยยังขาดการตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการความปลอดภัยในการรับมือจัดการสารกัมมันตรังสี รวมไปถึงการตรวจสอบและรายงานข้อมูลที่ชัดเจน นี่จึงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่ควรนำไปปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต