_______________
“ พรุ่งนี้วันจันทร์ ” ประโยคที่ใครหลายๆคน แค่ได้ยินก็ไม่ชอบแล้ว
เพราะมันอาจมาพร้อมกับความรู้สึกที่เบื่อหน่าย งานกองโตและเวลาพักผ่อนก็ผ่านไปไวซะจนเหมือนยังไม่ได้พัก ทำให้เอาแต่นับวันรอว่าเมื่อไรจะถึงวันหยุดเสียที....
เชื่อว่าใครหลายๆคนคงจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และคงจะไม่ดีแน่ถ้าปล่อยให้ทุกๆเช้าวันจันทร์ เต็มไปด้วยอารมณ์และความคิดเชิงลบเพราะหากเราเริ่มต้นด้วยความเบื่อหน่ายและหมดไฟตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ก็จะส่งผลให้ทั้งสัปดาห์ของเราเป็นแบบนั้นตามไปด้วย
STeP จะพามาไขข้อข้องใจกับอาการ ‘เกลียดวันจันทร์’ ซึ่งมีหลักวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาอยู่เบื้องหลัง! หากเมื่อเราได้ทำความเข้าใจอาการเกลียดวันจันทร์แล้ว เราอาจจะรักวันจันทร์มากขึ้นก็ได้ เพราะถ้าหากเริ่มต้นวันใหม่ได้ดี ก็มีแนวโน้มว่าจะดีไปทั้งสัปดาห์ มาลองเปลี่ยนสิ่งเล็กๆ เพื่อเปลี่ยน “วันจันทร์ที่น่าเบื่อ” ให้กลายเป็น “วันสุข” กัน
.
.
‘Monday Blues’ คืออะไร ?
Monday Blues หรือ โรคเกลียดวันจันทร์ เป็นอาการที่เกิดจากความเครียดหรือความกดดันในที่ทำงาน ซึ่งมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบและลามไปเรื่องอื่นๆ เป็นความรู้สึกที่เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย และเมื่อรู้สึกกดดันมากขึ้นก็จะกลายเป็นความไม่ชอบจนอาจจะเกลียดไปในที่สุด
นอกจากนี้ โรคเกลียดวันจันทร์ อาจจะเกิดจากการที่เรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า เจ้านาย หรือลูกน้อง ทำให้เราเกิดความรู้สึกเชิงลบและทำให้ไม่อยากมาทำงาน โดยเฉพาะ #วันจันทร์ ซึ่งเป็นวันแรกของสัปดาห์ หลังจากวันหยุดที่เราได้ปรนเปรอตัวเองอย่างเต็มที่ ก็เลยรู้สึกแย่เป็นพิเศษที่ต้องกลับมาทำงานอีกครั้ง
.
อาการเกลียดวันจันทร์ มีจริงไหม?
การศึกษาจาก Lehigh University’s College of Business สหรัฐอเมริกา ในปี 2021 ระบุว่าอาการ ‘เกลียดวันจันทร์มีอยู่จริง!’ และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย อาการเกลียดวันจันทร์ หรือ Monday Blues นั้นเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ยาวไปจนถึงเช้าวันจันทร์ เป็นหนึ่งในเรื่องที่นักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศจะต้องเคยเจอและกำลังเผชิญอยู่
มีผลการวิจัยพบว่า บรรดาพนักงานที่ต้องมาทำงานในเช้าวันจันทร์นั้นมีอัตราความดันโลหิตสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการเป็นโรคเครียดวิตกกังวลมากขึ้น ในขณะที่คนว่างงานหรือคนทำงานฟรีแลนซ์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตในเช้าวันจันทร์
บทความของ CNBC ได้กล่าวไว้ว่า พนักงานจะรู้สึกไม่มีความสุขมากที่สุดในเวลา 11:17 นาทีของเช้าวันจันทร์ กลับกันพวกเขาจะรู้สึกแฮปปี้ที่สุดในเวลา 15:47 ของวันศุกร์ ดังนั้นอาการเกลียดวันจันทร์จึงสามารถอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ได้
.
ทำไมต้องเป็น ‘วันจันทร์’ ?
หมดไฟ
งานวิจัยจาก American Journal of Epidemiology อธิบายว่า เพราะวันจันทร์เป็นวันที่ทุกคนรู้สึกอ่อนแรงที่สุดในสัปดาห์ แม้จะเพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ได้ชาร์จพลังและพักผ่อน เผลอแป๊บเดียวก็ต้องกลับมาสู่วงจรชีวิตปกติ จึงจะต้องใช้ความอดทนมากกว่าวันอื่นๆ เพราะการทำงาน 5 วันรวดจะทำให้ Productivity หรือผลผลิตประสิทธิภาพในการทำงาน หดหาย ลดลง และยังพบว่า คนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีการตระหนักรู้ถดถอยลง เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานเพียง 40 ชั่วโมง และการทำงานต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการหมดไฟเร็วกว่าเวลาอันควร
.
จังหวะของร่างกายที่เปลี่ยนไป
สิ่งที่แตกต่างกันของวันทำงานและวันหยุดสำหรับคนทำงานคือ จังหวะชีวิต เพราะคนไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะมีปุ่มเปลี่ยนโหมดได้อย่างไหลลื่น
Meg Gitlin นักจิตบำบัดมองว่า คนมักจะคิดว่าวันหยุดคือวันฟื้นฟูกายและใจและโหมกิจกรรมทุกอย่างมากเท่าที่จะมากได้จนพลังงานหมด วันจันทร์ที่มาถึงจึงกลายเป็นเหมือนฝันร้าย
Sanam Hafeez นักประสาทจิตวิทยาระบุว่า แม้การหลับชดเชยในวันหยุดจะเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนทุกๆ 5 วัน จะไปรบกวนนาฬิกาชีววิทยาที่ควบคุมการนอนและตื่นของแต่ละคน
.
อิสระที่กำลังหลุดมือ
Becky Stuempfig นักจิตวิทยา อธิบายว่า ธรรมชาติของมนุษย์รักการเป็นอิสระ พอมีวันจันทร์ขึ้นมาหลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ใช้ชีวิตอย่างตามใจตัวเองสุดเหวี่ยง ก็เลยรู้สึกสูญเสียอิสระไป ทำให้มนุษย์เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน ทำให้เกิด Emotional Shift จากวันหยุดที่รื่นรมย์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นวันทำงานที่เคร่งเครียด สมองของเราปรับตามไม่ทัน จึงเกิดอาการเกลียดวันจันทร์ขึ้นมา
.
รู้สึกแย่กับตัวเอง
ในช่วงวันหยุดพวกเรามักเปย์ตัวเองอย่างหนัก กินบุฟเฟ่ต์ล้างผลาญ ท่องเที่ยวและดื่มหนักมากกว่าปกติ ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อร่างกาย มีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงทุกอายุและทุกเชื้อชาติ รู้สึกตัวเองดึงดูดน้อยลงในวันจันทร์ ร่างกายเรารับมือหนักจากพฤติกรรม พอเรารู้สึกแย่การโทษวันจันทร์ไปเลย ทำให้คุณสบายใจกว่า
นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้คนมักน้ำหนักขึ้นและความดันสูงในช่วงต้นสัปดาห์และสถิติการตายด้วยโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองแตกมักสูงที่สุดในวันจันทร์เช่นกัน
.
.
ดังนั้น เคล็ดลับที่จะทำให้เราเกลียดวันจันทร์ให้น้อยลงก็คือ ‘การหลอกสมอง’
- เริ่มต้นวันด้วยการทานอาหารที่อยากทาน มื้อเช้าที่ดีก็จะทำให้อารมณ์ดีได้ทั้งวัน
- เข้านอนไว ในคืนวันอาทิตย์ นอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ
- ลองเปลี่ยนการแต่งกายหรือการแต่งหน้าในลุคใหม่ๆ
- ลิสต์สิ่งที่ต้องทำไว้ล่วงหน้า เพื่อลดภาระในเวลาทำงาน
- เข้าใจและยอมรับว่า วันจันทร์ก็เป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง
- วางแผนสนุกๆ ให้มีกิจกรรมที่เราอยากทำในวันจันทร์
- ช่วยเหลือผู้อื่นหรือทำสิ่งดีดีในตอนเช้า จะทำให้เรามีความสุขเมื่อได้รับรอยยิ้มกลับมา
.
.
เราอาจเคยชินกับความรู้สึกเบื่อและเกลียดวันจันทร์กันมาตลอด แต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้ เพียงแค่ปรับมุมมอง หาแนวทางที่ใช่ และแก้ปัญหาให้เหมาะสม อาจทำให้เราได้พักผ่อนเต็มที่ในวันหยุด และไม่ต้องรู้สึกเบื่อหน่ายเมื่อวันจันทร์กำลังจะมาถึง...
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #วันจันทร์ #พรุ่งนี้วันจันทร์ #Mondayblues #เกลียดวันจันทร์
ขอบคุณที่มาจาก :