_________
แม้ไม่ต้องมีตัวเลขหลักฐาน เราทุกคนก็สัมผัสกันได้ด้วยตัวเองว่า อุณหภูมิของปีนี้สูงขึ้นมากไม่ว่าจะในฤดูกาลไหน และทวีคูณขึ้นไปอีกในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้
⠀⠀⠀เราอาจได้ยินได้ฟังกันมาตลอด ว่าสาเหตุที่อุณหภูมิของอากาศสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี เป็นผลมาจากการที่โลกของเราเข้าสู่ยุค “ภาวะโลกร้อน” หรือ Global Warming แต่ในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เผยคำประกาศที่ชี้ให้เราต้องตระหนักถึงความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยกล่าวว่าบัดนี้ ยุคภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว พวกเรากำลังอยู่ในยุค “ภาวะโลกเดือด”
⠀⠀⠀หากว่ากันตามตรง “ภาวะโลกเดือด” หรือ Global Boiling ไม่ได้เป็นคำที่ถูกบัญญัติในทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ เพราะในความเป็นจริงแล้ว โลกของเราก็ยังคงอยู่ในภาวะโลกร้อนเช่นเดิม แต่สถาณการณ์ของมันได้ทวีความรุนแรงขึ้นมากในระยะเวลาสั้น ๆ จนต้องใช้คำเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นภาพตรงกันว่า ตอนนี้มันไม่เพียงแค่ร้อนแล้ว แต่ถึงขั้นเดือดเลยต่างหาก!
โดยภาวะโลกร้อนไปจนถึงโลกเดือดที่ว่านี้ คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อน ทำให้เมื่อเวลาที่ดวงอาทิตย์แผ่ความร้อนมาที่โลก ความร้อนเหล่านั้นก็จะไม่ถูกสะท้อนหรือระบายออกไปจากชั้นบรรยากาศ คล้ายกับการมีเรือนกระจกใหญ่ ๆ คลุมโลกของเราอยู่
ซึ่งสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกนั้น มีที่มาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การหายใจหรือการขับเอาของเสียออกของสิ่งมีชีวิต การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์หรือเครื่องจักร การทำปศุสัตว์ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์เอง ก็เป็นผลให้เกิดการก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน
⠀⠀⠀เชื่อหรือไม่ ว่าผลกระทบของโลกที่เราเห็นตามข่าวรายวัน ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน ไปจนถึงการทยอยตายของพืชและสัตว์หลายชนิด ทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากที่โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น
แม้ตัวเลข 1 องศาเซลเซียส จะดูเล็กน้อยมากสำหรับมนุษย์เราที่มีเครื่องนุ่มห่มหรือนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยในการปรับอุณหภูมิร่างกายให้สบายตัวขึ้น แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่น ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงเข้าขั้นวิกฤตการสูญพันธ์เลยทีเดียว มาดูตัวอย่างความน่ากลัวที่เกิดขึ้นแล้วของการเพิ่มขึ้นมา 1 องศาเซลเซียสนี้กัน
⠀⠀⠀ชัดเจนที่สุดในตอนนี้ น่าจะเป็นผลกระทบที่เราทุกคนเผชิญอยู่ นั่นคือคลื่นความร้อนที่เคลื่อนตัวช้าลง ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญอาการที่ร้อนขึ้นและยาวนานขึ้น หน้าหนาวจะสั้นลง และหน้าฝนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าใครเพื่อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิต
⠀⠀⠀ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลายตัวเร็ว ระดับน้ำทะเลจึงสูงขึ้น เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้ผู้คนหรือชุมชนที่ใช้ชีวิตในระแวกนั้นต้องสูญเสียทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย
⠀⠀⠀หลักฐานหนึ่งที่พิสูจน์ความวิกฤตของภาวะโลกเดือดได้ดี คือการที่ขั้วโลกใต้ซึ่งเป็นดินแดนที่เราเข้าใจกันมาตลอดว่ามีอุณหภูมิติดลบจนไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถเติบโตได้ มาบัดนี้กลับมีต้นไม้งอกขึ้นผลิดอกเบ่งบาน ขณะที่น้ำทะเลในเขตร้อนมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เทียบเท่าบ่อน้ำร้อนเลยทีเดียว ส่งผลให้พืชและสัตว์ทะเลโดนต้มสุกจนตาย บ้างก็หนีน้ำร้อนขึ้นมาตายบนหาด
⠀⠀⠀รู้หรือไม่ ว่าในอีก 25 ปี เราอาจไม่มีช็อกโกแลตกินแล้วก็ได้ ด้วยภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ต้นโกโก้สูญพันธุ์ และไม่ใช่เพียงพืชอันเป็นวัตถุดิบแสนอร่อยนี้เท่านั้น ยังมีพืชและสัตว์อีกหลายพันชนิดที่เริ่มทยอยตายไปเพราะอากาศที่ร้อนขึ้น แต่ก็ยังมีอีกส่วนที่ดิ้นรนปรับตัวอยู่เช่นกัน ต่อจากนี้เราจึงจะได้เห็นการสูญพันธุ์และกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์และพืชด้วยตาตัวเองอย่างแน่นอน
⠀⠀⠀ความแปรปรวนของสภาพอากาศมาพร้อมกับภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตทางเกษตรและปศุสัตว์อย่างมาก ในอนาคตอาหาร-วัตถุดิบเหล่านี้จะเริ่มร่อยหรอและขาดแคลน ทำให้มีราคาแพงขึ้น กลายเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต นำไปสู่ความเครียดในการเอาตัวรอดของมนุษย์
⠀⠀⠀ความน่าตระหนกยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เมื่อองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ชี้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่าโลกจะร้อนขึ้นแตะเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นในข้างต้นนั้น จะเกิดเพิ่มขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น และกระทบสิ่งมีชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งหากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาตร์ได้คาดการณ์ว่า สิ่งมีชีวิตร้อยละ 30 ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามนุษยชาติอาจไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติเช่นกัน
⠀⠀⠀นับจากนี้ (ปี 2567) โลกมีเวลาอีกเพียงราว 5 ปีเท่านั้น ในการป้องกันผลกระทบจากภาวะโลกเดือด ก่อนมันจะดำเนินไปถึงจุดที่เรา ‘ไม่สามารถถอยหลังกลับไป’ แก้ไขได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับบุคคลทั่วไป หรือเรียกง่าย ๆ ว่าประชาชนคนทั่วไปอย่างเรา ๆ ช่วยกันลดเพียงฝ่ายเดียวนั้น ไม่เพียงพอต่อการป้องกันผลกระทบที่ว่า หน่วยงาน องค์กร อุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงภาครัฐ ต้องมีนโยบายและร่วมกันรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net Zero Carbon) อาทิ การใช้พลังงานสะอาด การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ 100% การถอนการลงทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น
สิ่งสำคัญจากนี้คือ การที่ประเทศที่มีส่วนในการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด เช่น จีน สหรัฐฯ อินเดีย และรัสเซีย จะต้องเพิ่มความพยายามอย่างจริงจังในเร็ววัน เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้ตามเป้าหมาย โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ชี้ว่า การเปลี่ยนไปลงทุนด้านพลังงานสะอาดของทั่วโลก จะยังสามารถทำให้โลกเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
เพราะการลดโลกร้อนมันไม่ใช่แค่การหิ้วถุงผ้าหรืองดใช้หลอดพลาสติก เราจึงต้องเริ่มด้วยกัน และเริ่มวันนี้
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #GlobalBoiling #GlobalWarming #ClimateChange #NetZero
แหล่งอ้างอิง
https://101pub.org/thailand-climate-policy/
https://www.blockdit.com/posts/6629d141aca51750433c5fea
https://risc.in.th/th/knowledge/ภาวะโลกเดือดจะส่งผลอะไรในอนาคตบ้าง
https://thestandard.co/humanity-5-years-away-from-irreversible-global-crisis/