“นวัตกร” คืออะไร ? อาชีพนี้มีจริงไหม ? แล้วเขาทำอะไรกัน ?

“นวัตกร” คืออะไร ?
อาชีพนี้มีจริงไหม ? แล้วเขาทำอะไรกัน ? 

____________


⠀⠀⠀“นวัตกร” อาจเป็นคำที่หลายคนยังไม่คุ้นหูนัก เพราะส่วนใหญ่เราจะเคยชินกับคำว่า “นวัตกรรม (Innovation)” เสียมากกว่า ด้วยเป็นคำที่ใช้กันบ่อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อสื่อถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ การบริการ หรือกระบวนการใดใด ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าและสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่น 

พูดง่าย ๆ ว่าสิ่งใดที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และสามารถสร้างประโยชน์ได้ในทางใดทางหนึ่ง เรียกเป็น “นวัตกรรม” ได้ทั้งสิ้น โดยคนที่สร้างนวัตกรรมเหล่านี้ เราเรียกพวกเขาว่า “นวัตกร (Innovator)”

ถึงตรงนี้ บางคนอาจร้องขึ้นมาว่า “อ้าว คนที่คิดค้นหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ เราเรียกว่านักประดิษฐ์ไม่ใช่รึไง” เพื่อสร้างความกระจ่าง เราจึงขอถือโอกาสเนื่องในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ วันแห่งนักประดิษฐ์ นี้ ในการพาทุกคนมารู้จัก “นวัตกร” ให้ดีขึ้น ในฐานะนิยามใหม่ของนักประดิษฐ์ในศตวรรษที่ 21


“นวัตกร” คืออะไรกันแน่ ?

⠀⠀⠀อย่างที่ได้เกริ่นไปเล็กน้อยในข้างต้น นวัตกรคือผู้สร้างนวัตกรรม นั่นหมายความว่า นวัตกร คือ คนที่สามารถสร้างสรรค์อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือแก้ไขสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นและตอบโจทย์ผู้คนมากขึ้น โดยจะผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไปหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ นวัตกรรมที่สร้างจะต้องสามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ นวัตกรจึงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ 


นวัตกร Vs นักประดิษฐ์ ต่างกันอย่างไร ?

⠀⠀⠀นวัตกร (Innovator) และนักประดิษฐ์ (Inventor) ทั้งสองคำมีความคาบเกี่ยวกัน ในความหมายของผู้ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สองคำนี้ยังมีส่วนต่างอยู่บ้าง นั่นคือ 

นวัตกร มีความหมายกว้างกว่านักประดิษฐ์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการประดิษฐ์สิ่งของหรืออุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่จับต้องได้เท่านั้น แต่รวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น แนวคิด ทฤษฎี วิธีการ หรือกระบวนการใดใด และไม่จำเป็นต้องอยู่ในมิติด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในศาสตร์และศิลป์ทั้งหมด

ขณะที่ นักประดิษฐ์นั้น จะมีความหมายเฉพาะเจาะจงไปยังคนที่สามารถประดิษฐ์สิ่งของ อุปกรณ์ใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ที่จับต้องได้ เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบเครือข่ายออนไลน์ เป็นต้น 

พูดง่าย ๆ ว่านักประดิษฐ์ทุกคนถือเป็นนวัตกร แต่นวัตกรไม่จำเป็นต้องเป็นนักประดิษฐ์เสมอไปนั่นเอง


แล้วอาชีพ “นวัตกร” มีจริงไหม ? 

⠀⠀⠀“มีจริง” และอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด 

ซึ่งส่วนใหญ่เราจะรู้จักพวกเขาในนาม “นักวิจัย (Researcher)” หรือ “นักพัฒนา (Developer)” ที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ตามองค์กรหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันวิจัย หรือบริษัทเทคโนโลยี เป็นต้น ในอีกด้านหนึ่ง นวัตกรที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาและอยากสร้างรายได้จากนวัตกรรมนี้ด้วยตัวเอง ก็จะผลักดันมันไปสู่การเป็นธุรกิจ และกลายเป็น “ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)” ในที่สุด หรือที่เราติดปากเรียกกันว่า “Startup” นั่นล่ะ 

ตัวอย่างเหล่าคนดังที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “นวัตกร” ก็ได้แก่ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล, อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัทเฟซบุ๊ก หรือแม้กระทั่งนักวิทย์ฯ ในอดีตอย่าง โทมัส เอดิสัน ผู้คิดค้นหลอดไฟไฟฟ้า และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ ก็เช่นกัน

⠀⠀⠀อย่างไรก็ตาม ความหมายของ “นวัตกร” ในศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นเพียงแค่อาชีพเท่านั้น แต่ยังถูกขยายขอบเขตให้เป็นหนึ่งในแนวคิดในการดำเนินงานสำหรับทุกสายอาชีพ เพื่อให้ทุกสายงานได้มีความริเริ่มในการสร้างสรรค์หรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานของตัวเอง ยกตัวอย่าง คุณครูที่ออกแบบสื่อการสอนใหม่ที่ช่วยให้นักเรียนจดจำอักษรสูง-ต่ำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น 


อยากเป็น “นวัตกร” ต้องมีทักษะอะไร ?

⠀⠀⠀เราเชื่อเสมอว่า ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมความเป็นนวัตกรอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับว่าจะดึงเอาศักยภาพออกมาได้มากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญของการเป็นนวัตกรจึงเป็นเรื่องของ “ทัศนคติ (Mindset)” ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดทักษะอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ 

  • ความกระหาย (Hunger) คือ ความอยากที่จะเรียนรู้ อยากที่จะสร้างสิ่งใหม่ ไม่หยุดอยู่กับความพอใจเดิม ๆ เมื่อมองเห็นโอกาสที่จะทำให้มันดีขึ้นได้ 
  • ความนอบน้อม (Humble) ในทีนี้หมายถึง การไม่มองว่าตัวเองรู้ดีและเก่งที่สุด ต้องเปิดใจรับฟังความคิดของผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้รู้ถึงปัญหาและความต้องการของคนอื่น
  • ความหลงใหล (Passionate) มีความหลงใหลในการผลักดันนวัตกรรม ถึงแม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลาน จะล้มเหลวกี่ครั้งก็ต้องไม่หมดกำลังใจ เพราะคุณเชื่อมั่นว่านวัตกรรมนี้ของคุณจะทำให้ชีวิตคนดีขึ้นได้จริง
  • ความกล้า (Fearless) ต้องกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ ๆ กล้าที่จะผิดพลาด และเริ่มใหม่อีกครั้ง

⠀⠀⠀นอกจาก Mindset เหล่านี้แล้ว อีกสองสิ่งที่นวัตกรต้องมีคือ 1. ทักษะแบบ T-Shape ที่ต้องรู้ลึกและเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ยังเหลือพื้นที่ให้ตัวเองเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ อีกเพื่อความยืดหยุ่นในการทำงาน และ 2. การทำงานเป็นทีม (Team Work) เพราะในบางเนื้องานเราไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว


⠀⠀⠀STeP เองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา เราผลักดันนวัตกรรมจากทรัพยากรภายในมหาวิทยาลัยออกสู่ภายนอก บ่มเพาะนวัตกรไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ รวมถึงพัฒนาความเป็นนวัตกรแก่บุคลากรภายใน เพื่อให้การทำงานของเราก้าวไปข้างหน้าและไม่หยุดอยู่กับที่ 

หากคุณเป็นคนที่รักการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม กล้าที่จะเผชิญความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้โดยไม่หมดกำลังใจ และมีความมุ่งมั่นจะผลักดันงานของตัวเองไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สามารถเริ่มต้นกับ STeP ได้ เพราะเรามีความพร้อมในทุกด้านที่จะผลักดันให้คุณได้เป็น “นวัตกร” 


_______

#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #Innovator #Innovation #นวัตกร #นวัตกรรม #วันนักประดิษฐ์