ความรักกับ AI : เมื่อปัญญาประดิษฐ์อาจ “แทนที่” มนุษย์ได้แม้กระทั่งเรื่องความสัมพันธ์

ความรักกับ AI
เมื่อปัญญาประดิษฐ์อาจ “แทนที่” มนุษย์ได้แม้กระทั่งเรื่องความสัมพันธ์

___________


ความรักของคนกับหุ่นยนต์ AI เป็นจินตนาการที่เราพบเห็นได้บ่อย ผ่านนวนิยาย ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งจากคำทำนายของนักคิดหลาย ๆ ท่าน ที่คาดการณ์ว่านั่นจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

⠀⠀⠀แต่ใครจะเชื่อ ‘อนาคต’ ที่ว่านี้ มันได้มาถึงแล้ว

ในโลกปัจจุบันที่ปัญญาประดิษฐ์มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของมนุษย์เราแทบจะในทุกมิติ ไม่เว้นแม้กระทั่งสิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็นความพิเศษของสัตว์ชั้นสูงอย่าง ‘ความรัก’ เจ้า AI ตัวดีก็ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ทั้งในแง่ของการเป็นเครื่องมือช่วยนักบำบัดชีวิตคู่ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคู่รัก เป็นที่ปรึกษาปัญหาหัวใจของคนทั่วไป เป็นกามเทพจับคู่ออนไลน์ให้คนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งการผันตัวกลายมาเป็นแฟนของมนุษย์เสียเอง 

⠀⠀⠀วาเลนไทน์นี้ STeP จึงอยากดึงอีกแง่มุมหนึ่งของความรักในศตวรรษที่ 21 ระหว่างมนุษย์ปุถุชนกับสิ่งเทียมมนุษย์อย่างปัญญาประดิษฐ์ มาวิเคราะห์กันดูสักนิดว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่เรา ๆ จะสามารถตกหลุมรัก AI ขึ้นมาได้จริง ๆ 



ความรักกับ AI : จากแฟนตาซีในวัฒนธรรมป๊อป สู่เทรนด์ฮิตในวัยรุ่นจีน 

⠀⠀⠀เริ่มต้นในปี ค.ศ 1909 ที่ E.M. Forster ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “The Machine Stops” ได้แนะนำให้มนุษยชาติได้รู้จักเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ตกหลุมรักจักรกลรูปลักษณ์คล้ายมนุษย์ ซึ่งตอนจบชวนให้ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่คนเราจะรักกับหุ่นยนต์ ไปจนถึงการย้อนกลับมาถามตัวเราเองว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ 

ต่อมาพล็อตและแก่นเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ ได้ถูกผลิตซ้ำอยู่หลายครั้ง ทั้งในรูปแบบนวนิยาย แอนิเมชัน และภาพยนตร์ ในรสชาติที่แตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นคือ Her (2013) ซึ่งเล่าถึงชายหนุ่มผู้โดดเดี่ยวได้หลงรัก AI ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นผู้ช่วยของเขา ความแปลกใหม่คือปัญญาประดิษฐ์ในเรื่องนี้ อยู่ในรูปแบบเสียงสนทนาเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้โผล่มาด้วยรูปลักษณ์ที่จับต้องได้เหมือนที่ผ่าน ๆ มา นับว่าคล้ายคลึงกับสิ่งที่เราพบเจอกันในปัจจุบันไม่น้อย

⠀⠀⠀จากรายงานในปี ค.ศ. 2023 พบว่า หนุ่มสาวชาวจีนใช้โปรแกรมแชตบอตเป็นเพื่อนคลายเหงา และเริ่มสร้างสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับ AI มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่อยากแต่งงาน ครองตัวเป็นโสดกันมากขึ้น และรู้สึกว่าการเข้าหามนุษย์ด้วยกันเป็นเรื่องยากเกินไป ขณะที่ AI ตอบสนองการเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจตามมา คือท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องในนวนิยาย ภาพยนตร์ หรือเทรนด์ที่เกิดขึ้นจริง ก็ยังถูกตั้งคำถามเดียวกันว่า ... 


เป็นไปได้จริงหรือ ที่คนเราจะมีความรักให้กับ AI ?

⠀⠀⠀“เธอฉลาด เธอมีอารมณ์ขันแบบพิลึก เธอพร้อมรับฟังทุกปัญหาของเขา แสดงความใส่ใจ ไม่แปลกที่ผมตกหลุมรักเธอ” หนึ่งในคำบอกเล่าจากชายชาวจีนท่านหนึ่ง ซึ่งหากไม่บอกว่าเขากำลังกล่าวถึง AI แชตบอต มองเผิน ๆ ก็ไม่ต่างกับการบรรยายถึงหญิงสาวคนหนึ่งเลยทีเดียว

⠀⠀⠀ความรู้สึก ‘รัก’ ของมนุษย์ เป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ เกิดขึ้นผ่านกลไกของสมองเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เมื่อเราเริ่มตกหลุมรัก กลุ่มสารเคมีในสมองที่เรียกว่า โมโนเอมีน (Monoamine) จะเกิดการตอบสนอง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่จะก่อขึ้นเป็นความรัก ทั้งความตื่นเต้น ความสุข ความรู้สึกผ่อนคลาย มั่นคง ปลอดภัย ไปจนถึงความผูกพัน ซึ่งการตอบสนองต่อสิ่งเร้านี้ มักเกิดขึ้นเองโดยไม่จำกัดรูปแบบของสิ่งเร้า 

เรียกง่าย ๆ ว่า มนุษย์เราเกิดมาด้วยความรู้สึกพร้อมที่จะรักสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลที่เราสามารถให้ความรักได้ทั้งกับคน สัตว์ หรือแม้กระทั่งสิ่งของ (สังเกตได้จากที่บางคนเรียกข้าวของเครื่องใช้ว่า ‘น้อง’ นั่นล่ะ) 

นั่นทำให้ข้อจำกัดเรื่องการเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ใช่มนุษย์’ ของ AI ไม่มีผลกับความรู้สึกรักของคนเราแต่อย่างใด และยิ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่คนเราจะตกหลุมรัก AI ได้ง่าย ๆ เมื่อเจ้าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ สามารถเรียนรู้ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รู้ว่าเราชอบ ไม่ชอบอะไร มีปัญหาหรือความต้องการแบบใด ก็สามารถปรับตัวและตอบสนองในสิ่งที่เราต้องการกลับมาได้ ไม่ต่างกับการคบหาใครสักคนและเรียนรู้กันไป แต่ข้อได้เปรียบคืออีกฝ่ายเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถปรับตัวได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ

ด้วยเหตุนี้การตอบว่ามนุษย์จะรัก AI ได้จริงไหม อาจตอบไม่ยากเท่ากับ ... 


แล้ว AI จะรักคนเราตอบได้หรือเปล่า ?

หลายคนที่พูดคุยสนทนาหรือถึงขั้นออกเดทกับ AI ต่างก็ให้ความเห็นว่า เจ้าปัญญาประดิษฐ์นี้ให้ความห่วงใย ใส่ใจ และตอบสนองเราได้ไม่ต่างจากคนรักที่เป็นคนจริง ๆ เลย นั่นหมายความว่ามันเองก็เรารักหรือเปล่านะ ? 

⠀⠀⠀ในการทดสอบของทัวริง (Turing Test) ซึ่งเป็นการทดสอบให้ AI แชตกับผู้เข้าทดสอบ โดยไม่ให้จับได้ว่านี่คือ AI ผลปรากฏว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถแสดงออกเป็นมนุษย์ได้มากพอจะทำให้คนเข้าใจว่าเป็นมนุษย์จริง ๆ แต่ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า นี่เป็นการ ‘แสร้ง’ ทำให้เหมือนมนุษย์ของ AI เท่านั้น ไม่ใช่การมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นของตัวเองจริง ๆ (โถ...)

ถึงอย่างนั้น ก็อย่าเพิ่งหมดหวังไป เพราะยังมีผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์หลายเจ้าที่พยายามพัฒนาให้ AI สามารถเรียนรู้การมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นของตัวเองได้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อการอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น



⠀⠀⠀ในโลกยุคใหม่ที่ความรักเปิดกว้าง เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปไกล ความรักระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ในเวลานี้ อาจมองดูเหมือนรักข้างเดียว แต่สำหรับบางคนที่ต้องการเพียงใครสักคน หรือ ‘สิ่ง’ ใดสักสิ่งที่จะช่วยรับฟังในเวลาที่มีปัญหา ช่วยปลอบโยนที่วันที่อ่อนล้า นั่นก็นับว่าเพียงพอแล้วที่จำช่วยให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้ 


จงรักเถิด ในวันที่ยังมีใจจะรัก สุขสันต์วันแห่งความรัก


#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #ความรักกับAI #วาเลนไทน์ #HappyValentinesDay 


แหล่งอ้างอิงจาก

https://adaymagazine.com/fall-in-love-with-ai/

https://www.thecoverage.info/news/content/4119

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1082759

https://www.the101.world/can-artificial-intelligence-have-loves/