เคย ‘โกง’ ไหม? อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเคยใส่สูตรเพิ่มเงินในเกมจำลองชีวิตเพื่อให้สนุกกับเกมได้ง่ายขึ้น หรือดูหนังจากเว็บไซต์ที่ต้องฝ่าดงโฆษณานับร้อยเพื่อประหยัดค่าสตรีมมิ่งรายเดือนบ้างล่ะ
⠀⠀⠀#โกง เป็นหนึ่งคำที่เราได้พบเห็น ได้ยิน ได้ฟังกันบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน ทั้งจากข่าวสารบ้านเมือง หรือแม้กระทั่งการประชาสัมพันธ์และรณรงค์เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเองก็ตาม ในโอกาสวันที่ 6 กันยายนของทุกปี เป็น #วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ เราจึงอยากจะพาทุกคนมารู้จัก ‘การโกง’ ผ่านแว่นพฤติกรรมศาสตร์ ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความทะเยอทะยานเพียงอย่างเดียว หรือมีกลไกอะไรที่น่าสนใจกว่านั้น
คด เอ๋ย คดโกง
⠀⠀⠀‘โกง’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง หรือแสดงอาการดื้อไม่ยอมทำตาม นอกจากนี้ยังหมายถึงลักษณะของสิ่งที่โค้ง คด ไม่ตรง
ในทางการสื่อสาร เราจะคุ้นชินกับการใช้ ‘โกง’ ในความหมายของการเอาประโยชน์โดยมิชอบจากช่องโหว่ของระบบ กระบวนการ หรือสถานการณ์ใดใด ส่วนใหญ่มักผูกกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การโกงยังหมายรวมถึงพฤติกรรมอื่นอีกนับไม่ถ้วน อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ หรือตามกฎเกณฑ์ของสังคมที่ควรจะเป็น ก็พูดได้ว่าเป็นการโกงทั้งหมด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าในภาษาไทย มีถ้อยคำที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ความหมายเดียวกับคำว่า ‘โกง’ ถึง 522 ถ้อยคำเลยทีเดียว
การโกง Vs การคอร์รัปชัน
⠀⠀⠀เราหลายคนมองสองคำนี้เป็นพฤติกรรมเดียวกัน แต่มีนักวิชาการบางกลุ่มที่พยายามแยกข้อแตกต่างของการคอร์รัปชันออกจากการโกงโดยทั่วไป ซึ่งมองว่าสองคำนี้พูดถึงการหาประโยชน์จากช่องโหว่โดยมิชอบเหมือนกัน จะต่างก็ตรงที่
#การโกง ในภาพกว้าง เช่น โกงข้อสอบ การโกงเงินเพื่อ การโกงค่าแรงลูกจ้าง จำพวกนี้เป็นการโกงระหว่างเอกชนกับเอกชน บุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับเอกชน มันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่ชัดเจน มีผู้ที่จะลุกขึ้นมาจัดการหรือปกป้องผลประโยชน์ของเขา
ขณะที่นิยามของ #การคอร์รัปชัน จะหมายถึงการใช้อำนาจของรัฐโกงเอาจากทรัพยากรสาธารณะหรือสมบัติสาธารณะ ซึ่งเป็นของส่วนกลาง ทำให้มีความซับซ้อนกว่าในการจัดการหรือปกป้อง เพราะความเป็นเจ้าของมันไม่ชัดเจน
ทำไมคนเราถึงต้องโกง
⠀⠀⠀ศาสตราจารย์แดน อารีลีย์ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ชาวอิสราเอล – อเมริกัน ได้ระบุไว้ในหนังสือจากงานวิจัยของเขา ถึงสารพันเหตุผลของคนขี้โกง ซึ่งมีใจความหลัก ๆ ดังนี้
เราต่างก็เคยโกงด้วยกันทั้งนั้น — นอกเหนือจากการโกงกินระดับชาติบ้านเมือง สิ่งที่สร้างปัญหาได้ไม่แพ้กันคือการโกงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าการโกงเพียงนิดเดียวเช่นนี้ ทำให้เราได้ทั้งผลประโยชน์และยังคงเป็นคนดีอยู่ เพราะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนที่ใหญ่หลวง
เขาโกงได้ เราก็โกงได้ — อารีลีย์พบว่า การที่คนเราเห็นพฤติกรรมการโกงของคนอื่น สามารถเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เราอยากโกงเสียเอง ในเวลาที่เห็นช่องทางที่สามารถโกงได้
ความเหนื่อยล้า สร้างคนโกง — ถ้าคนเรามีความเหนื่อยล้าจากการอดทนอยู่ในกฎเกณฑ์มาเป็นเวลานาน สิ่งที่สะสมมานี่ละที่จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดอาการ ‘ช่างหัวมันเถอะ’ และเพิ่มโอกาสให้มีพฤติกรรมการโกงมากขึ้น
เราไม่ได้โกงให้ตัวเองสักหน่อย — การโกงเพื่อประโยชน์ของคนอื่น เป็นคำอธิบายเหตุผลการโกงที่พบได้บ่อยที่สุด และมักถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสนับสนุนการโกงนั้นให้กลายเป็นเรื่องที่สมควรทำด้วย
ก็เห็นการโกงมาตั้งแต่เกิด — การอยู่ในวัฒนธรรมที่มีตัวอย่างการโกงนิดโกงหน่อยเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายสินบนเพื่อให้รอดใบสั่ง หรือการให้เงินแป๊ะเจี๊ยะกับโรงเรียน ทำให้คนเรามองเรื่องเหล่านี้เป็นความเคยชิน เพราะใคร ๆ เขาก็ทำกัน จนกลายเป็น ‘ความผิดที่เป็นปกติ’ ของสังคม
การโกงของคนดี(ย์)
⠀⠀⠀เมื่อพูดถึง ‘#คนดี’ แน่นอนว่าคุณสมบัติแรก ๆ ที่ต้องไม่มี คือ ‘#การโกง’ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าความจริงข้อนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เราคุ้นชินกันในประเทศไทย
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง เผยข้อมูลจากงานวิจัยว่า คนไทยเรานั้น แยก ‘ความดี’ กับ ‘คนดี’ ออกจากกัน #ความดี ในสายตาคนไทยส่วนใหญ่ หมายถึง ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง รองลงมาคือการเสียสละ ทำเพื่อผู้อื่น
ขณะที่ #คนดี หมายถึง คนที่กตัญญู รู้จักทดแทนคุณ หรือทำประโยชน์ให้กับคนใกล้ชิด หากเราต้องการถูกยอมรับในฐานะ ‘คนดี’ เราต้องเป็นคนกตัญญู ไม่ว่าความกตัญญูนั้นจะนำไปสู่การโกงก็ตาม คล้ายกับในข้างต้นที่พูดถึงการโกงเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเรื่องที่ ‘พอจะยอมรับได้’
ค่านิยมของสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้มีบุญคุณหรือคนที่เรานับถือมาก ๆ เช่นนี้ ในขณะเดียวกันจะเป็นการผลักผู้อื่นออกไปเป็นคนนอกโดยสิ้นเชิง เมื่อใดก็ตามที่เราต้องโกงคนอื่นเพื่อคนใกล้ชิด ความรู้สึกผิดก็จะน้อยลงไปตามความห่างเหิน ยิ่งหากเป็นคนที่เราเกลียดชังด้วยแล้ว ความรู้สึกผิดก็แทบจะไม่หลงเหลือเลยทีเดียว
⠀⠀⠀ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุด คือการคอร์รัปชันของนักการเมือง ที่ฉกฉวยผลประโยชน์ในทรัพย์สาธารณะจากภาษีประชาชน ซึ่งถูกมองเป็นคนนอกสำหรับพวกเขา เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้เครือข่ายหรือผู้มีบุญคุณของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ความกตัญญู หรือแม้แต่การมองผู้อื่นเป็นคนนอก ก็ไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับความชอบธรรมหรือความสะดวกใจในการโกงอยู่ดี
⠀⠀⠀การได้รู้ที่มาของพฤติกรรมการโกงว่ามีแรงขับจากสิ่งใด ถือเป็นข้อดีที่มีส่วนช่วยให้เราสามารถตระหนักรู้และคอยสำรวจตัวเองก่อนจะลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อให้การโกงที่ฝังอยู่ในวิธีคิดของเราจากสภาพแวดล้อมรอบด้าน ไม่นำพาเราไปสู่การฉกฉวยผลประโยชน์จากผู้อื่นโดยมิชอบอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะโกงไม่ได้เลยสักทีเดียวนะ อย่างน้อย ๆ ตอนลดความอ้วนเราก็ยังอยากกินของหวานอยู่เหมือนกันนี่ จริงไหม? ฮ่า
#CMUSTeP #MakeInnovationSimple #CreativeSTeP #วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ #NationalAntiCorruptionDay
แหล่งอ้างอิงจาก